ศูนย์สันติวิธีชายแดนใต้

พันธกิจสังคม

CONTACT US

ศูนย์สันติวิธีชายแดนใต้

วิสัยทัศน์: จากชุมชนสู่นโยบาย จากนโยบายสู่การปฏิบัติ

ความเป็นมา

          ศูนย์สันติวิธีชายแดนใต้ เกิดขึ้นหลังจากมีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี (ศพส.) ในช่วงปลายปีพ.ศ. 2547 โดยเป็นศูนย์ประสานงานระดับพื้นที่ และให้มีบุคลากรในพื้นที่ประจำสำนักงาน เพื่อให้การดำเนินงานต่าง ๆ มีความคล่องตัว โดยเฉพาะการประสานงานในสถาบันการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม แม้ในยุคที่เปลี่ยนผ่านมาเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ศูนย์สันติวิธีชายแดนใต้ ก็ยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้

          ทั้งนี้ ในปัจจุบัน สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มีพันธกิจสังคมในสันติภาพชายแดนใต้ (พ.ศ. 2564-2567) โดยกำหนดขอบเขตการทำงาน 3 ด้าน ได้แก่

  1. สานเสวนาเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธ-มุสลิม และศาสนิก-รัฐ
  2. สานเสวนาบทบาทนักการเมือง/ภาคประชาสังคมในการสร้างสันติภาพ
  3. การส่งเสริมบทบาทกลุ่มชายขอบในการสร้างสันติภาพ ได้แก่ ชาวพุทธ, เยาวชน, สตรี, คนนอกระบบการศึกษา, บุคคลไร้สัญชาติ

วัตถุประสงค์

  1. เป็นศูนย์ประสานงานระดับพื้นที
  2. อำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
  3. เป็นศูนย์เผยแพร่ผลงานของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
  4. ให้บริการสถานที่ประชุมขนาดเล็ก
  5. จัดการความรู้การทำงานของบุคลากรในพื้นที่ชายแดนใต้

กรอบแนวคิด

          กิจกรรมต่างๆ ของศูนย์สันติวิธีชายแดนใต้เน้นการใช้กระบวนการสานเสวนา (Dialogue process) เพื่อแสวงหาทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ โดยมีกรอบแนวคิดนำทาง 3 ประการ ดังนี้

          1) เชื่อมโยงระดับชุมชนกับระดับนโยบาย เป็นการดำเนินงานศึกษาและวิจัยร่วมกับชุมชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและนำข้อมูลไปวิเคราะห์ ประมวลผลเพื่อนำข้อเสนอในระดับพื้นที่สู่ระดับนโยบาย เช่น โครงการสานเสวนาระหว่างนักการเมืองฯ โครงการวิจัยฯลุ่มน้ำสายบุรี โครงการศึกษารูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการศึกษาสถานการณ์การใช้ภาษามลายูถิ่น และโครงการโรงเรียนพัฒนากำปง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องนโยบาย เช่น กระบวนการสันติสุข/สันติภาพ และแนวทางการแก้ไขปัญหาตามหลักการสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่

          2) สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในการถกแถลงเพื่อสร้างสันติภาพและความเป็นธรรม เป็นการสร้างพื้นที่กลางหรือเปิดพื้นที่สาธารณะในการพูดคุยแลกเปลี่ยน และพัฒนาไปสู่การทำกิจกรรมหรือปฏิบัติการทางสังคมร่วมกัน เช่น โครงการเครือข่ายองค์กรประชาสังคม โครงการสานเสวนาปาตานี/ชายแดนใต้ โครงการถกแถลงรัฐธรรมนูญหรือโครงการสันติประชาธิปไตย โครงการเดินสันติปัตตานี โครงการรถไฟสายสันติภาพ โครงการปั่นจักรยานสัมพันธ์ชุมชน เป็นต้น

          3) สร้างสังคมที่โอบรับความหลากหลาย ส่งเสริมการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อเชื่อมสายสัมพันธ์ทางสังคมและแลกเปลี่ยนระหว่างวัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ เพื่อไปสู่แรงขับอันสร้างสรรค์ปฏิบัติการสังคมร่วมกัน เช่น โครงการเยาวชน ทักษะวัฒนธรรม เมล็ดพันธุ์สันติวิถี (Seed of Peace) สภาศาสนิกสัมพันธ์แห่งประเทศไทย (Interreligious Council: IRC) โครงการเพื่อนรักต่างศาสนา โครงการสานเสวนาระหว่างกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มผู้นำศาสนา กลุ่มผู้นำชุมชน กลุ่มผู้หญิง กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคประชาสังคม เป็นต้น

โครงสร้างศูนย์สันติวิธีชายแดนใต้

          ศูนย์สันติวิธีชายแดนใต้ มีบุคลากรประจำ 2 ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าหน้าที่วิจัย และเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป และมีหัวหน้าศูนย์ฯ บริหารงานอยู่ในส่วนกลาง โดยทำงานร่วมกันกับรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ

สถานที่ตั้ง:  297/127 ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี เบอร์โทร./เบอร์แฟกซ์ 073-450145

Message us