เกี่ยวกับสถาบัน
CONTACT US
- Institute of Human Rights and Peace Studies Panyaphiphat Building 999 Phuttamonthon 4 Road, Salaya, Nakhon Pa0thom 73170 Thailand
- +66(0) 2441-0813-5 ext.1114
- opihrp@mahidol.ac.th
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
ความเป็นมา
เกิดจากการรวมตัวกันระหว่างศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม (ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2541) และศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี (ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2547) สสมส. ได้ผนวกประสบการณ์และวิสัยทัศน์จากทั้งสองศูนย์เข้าไว้ด้วยกัน เอกลักษณ์ของ สสมส. คือองค์ความรู้ที่เป็นสหสาขาวิชา และการสร้างนิยามใหม่ให้แก่การศึกษาด้านสันติภาพ ความขัดแย้ง ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและส่วนอื่นๆของโลก
ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2541 กว่าสิบปีที่ศูนย์ฯปฏิบัติงานในฐานะสถาบันทางวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ศูนย์ฯได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา รวมทั้งจัดโครงการอบรมให้แก่นักศึกษา คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน สมาชิกองค์กรภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่ภาครัฐอย่างต่อเนื่อง หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสิทธิมนุษยชน ของศูนย์ฯนั้น ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน ที่ดำเนินการมายาวนานที่สุดในเอเชีย
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธีก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 ในฐานะศูนย์วิจัยที่มุ่งเป็นส่วนหนึ่งของการหาทางออกอย่างสันติให้กับความขัดแย้งต่างๆในประเทศไทย โดยเฉพาะความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส) ศูนย์ฯได้ดำเนินโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการและโครงการวิจัยแบบมีส่วนร่วมหลายโครงการ โครงการเหล่านี้มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดความพยายามในการร่วมมือกันของฝ่ายต่างๆเพื่อรับมือกับความขัดแย้ง ด้วยการเปิดพื้นที่การสานเสวนาในทุกระดับ หาหนทางลดความรุนแรง และค้นหาความจำเป็นพื้นฐานของชุมชนและสังคม และโครงการเหล่านี้มุ่งนำเสนอนโยบายสาธารณะใหม่ๆ เพื่อแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งและสร้างสังคมที่ ยุติธรรมและสันติ
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษายังได้กำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร เรายังคงมุ่งเน้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงทางสังคมและการเมือง ทั้งระดับชุมชน ระดับชาติ และระดับนานาชาติ สสมส.มุ่งมั่นที่จะยกระดับประเด็นสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ โดยให้การศึกษาแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ สนับสนุนโครงการให้ความช่วยเหลือต่อชุมชนและองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งดำเนินการวิจัยชั้นนำในประเด็นสำคัญๆ
โครงสร้าง
วิสัยทัศน์
มีบทบาทนำด้านวิชาการและปัญญาปฏิบัติในด้านสิทธิมนุษยชนและการสร้างสันติภาพ
พันธกิจ
ส่งเสริมความเป็นเลิศในการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ และร่วมขับเคลื่อนกับประชาคมเพื่อการแปลงเปลี่ยนไปสู่สังคมสันติธรรม
ปรัชญา
เสริมสร้างสิทธิมนุษยชนและสันติวัฒนธรรม เพื่อความยุติธรรมและประโยชน์สุขของมนุษยชาติ
ปณิธาน
เป็นผู้นำทางด้านวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษาที่สามารถใช้ความรู้และบุคลากรเพื่อตอบสนอง ชี้นำและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพการณ์ต่าง ๆ ของประเทศ ของภูมิภาค และของโลก โครงการจัดตั้งสถาบันฯ มุ่งการมีบทบาทนำทางวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาภายในประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลิตองค์ความรู้เพื่อรับใช้สังคมและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
วัฒนธรรมองค์กร
Innovation = ปัญญาปฏิบัติ
Harmony = อยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์
Respect = เคารพในคุณค่าของความเป็นมนุษย์
Participation = สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
ยุทธศาสตร์
- การเสริมสร้างความเข้มแข็งของหลักสูตรด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ
มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านการศึกษาเพื่อสร้างผู้ปฏิบัติการและนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพที่มีคุณภาพ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้หลักสูตรในการพัฒนานักวิจัยและผู้ปฏิบัติงานที่มีคุณภาพเพื่อตอบโจทย์ท้าทายและประเด็นอุบัติใหม่ด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ พร้อมทั้งบูรณาการความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาในหลักสูตรต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล
- การวิจัยเพื่อสร้างผลกระทบทางสังคม
มีเป้าหมายในการสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพและส่งผลกระทบต่อสังคม โดยมีเป้าประสงค์เพื่อพัฒนาการวิจัยที่สร้างผลกระทบทางสังคมด้วยการส่งเสริมการสร้างงานวิจัยและบทความตีพิมพ์ที่มีคุณภาพสูง และเพื่อพัฒนากลไกและระบบสนับสนุนการวิจัยให้มีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมการบริการวิชาการและพันธกิจสังคมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
มีเป้าหมายเพื่อบูรณาการแนวคิดและการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาและสังคม โดยมีเป้าประสงค์เพื่อใช้ความเชี่ยวชาญของสถาบันฯให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนทางวิชาการและสาธารณะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและ เพื่อบูรณาการแนวคิดและการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพสู่สังคม และเพิ่มความรับรู้ด้านงานพันธเพื่อกิจสังคมของสถาบันฯ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดลและต่อสาธารณชน
- การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน
มีเป้าหมายเพื่อหนุนเสริมการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกและการเติบโตของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา เพื่อให้สถาบันฯ สามารถสร้างผลงานตามพันธกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าประสงค์ดังนี้
- เพื่อพัฒนาและส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ที่เติบโตอยู่บนพื้นฐานของความหลากหลาย ส่งเสริมความสร้างสรรค์ และความเป็นผู้นำ และอยู่บนพื้นฐานของความเป็นมืออาชีพและความพร้อมรับผิด
- เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
- ส่งเสริมภาพลักษณ์และการรับรู้เกี่ยวกับสถาบันฯ จากทั้งภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ในประเทศไทย และระดับนานาชาติ
- เพื่อทำให้สถาบันฯ เป็นองค์กรที่มีความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว
- ใช้โครงสร้างพื้นฐานของ สสมส. อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อดำเนินการตามพันธกิจของสถาบันฯ และเพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืนของมหาวิทยาลัย