วันที่ 29 – 30 พฤษภาคม 2567 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ Danish Institute Against Torture (DIGNITY) จัดเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ การแสวงหาความยุติธรรมและเสรีภาพขั้นพื้นฐานภายใต้เงื่อนไขที่กดขี่: สำรวจศักยภาพของความร่วมมือระหว่างนักวิจัยกับนักกิจกรรม โดย ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร กล่าวต้อนรับ และปาฐกถาโดย Assoc. Prof. Dr. Khoo Ying Hooi นักวิชาการอาคันตุกะของสถาบันฯ ณ ห้องประชุม 109 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ Danish Institute Against Torture (DIGNITY) ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการนานาชาตินี้ขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ตัวแทนของภาคประชาสังคมและชุมชนการวิจัย จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงได้ ได้ร่วมกันสำรวจความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือและพันธมิตรเพื่อความยุติธรรม สันติภาพ และสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค
ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันถึงบริบทการเคลื่อนไหวทางสังคมภายใต้ภาวะกดขี่ (Repressed Condition) แนวทางการเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างสร้างสรรค์ (Creative Resistance) และการดูแลสุขภาวะและการปรับตัวของคนทำงานทางสังคม (Care and Resilience) โดยเฉพาะในบริบทการเคลื่อนไหวที่ถูกกดดันโดยรัฐภายใต้วาทกรรม “ประชาธิปไตยแบบเอเชีย” ซึ่งรวมถึงการเลือกตั้งที่ไร้ประชาธิปไตย และการถูกจำกัดสิทธิการเคลื่อนไหวรวมถึงการคุมขัง การติดตาม และล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยรัฐ ความร่วมมือระหว่างนักเคลื่อนไหวกับนักวิชาการ รวมถึงการผนวกการทำงานวิจัยในการเคลื่อนไหว เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้การเคลื่อนไหวมีน้ำหนักด้านองค์ความรู้และหลักฐานเชิงประจักษ์มากขึ้น พร้อมกับทำให้นักวิชาการได้สัมผัสกับความเป็นจริงของปัญหา และเกิดความรู้สึกร่วม รวมถึงเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน