บูรณาการสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยโครงการบูรณาการองค์ความรู้สิทธิมนุษยชนและสันติภาพข้ามศาสตร์ จัดการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง “บูรณาการสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา” เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ณ ห้อง 118 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในโอกาสนี้ ดร. วัชรฤทัย บุญธินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา กล่าวต้อนรับนักวิชาการผู้มีประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาที่เข้าร่วมอภิปรายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดังกล่าวฯ ได้แก่ ศ. ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ. ดร. โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล รศ. ดร. วุฒินันท์ กันทะเตียน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ดร. ไพเราะ มากเจริญ วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ดร. ชาญชัย ชัยสุขโกศล กระบวนกรและนักวิชาการอิสระ ผศ. โชคชัย วงษ์ตานี สถาบันสันติศึกษา มอ. หาดใหญ่ ผศ. ดร. ดวงหทัยบูรณเจริญกิจ ผศ. ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ และ ดร. สุภาสเมต ยุนยะสิทธิ์ อาจารย์ประจำสถาบันฯ ดำเนินรายการโดย ดร. พลธรรม์ จันทร์คำ อาจารย์ประจำสถาบันฯ

การอภิปรายทางวิชาการดังกล่าวฯ จัดขึ้นเพื่อทบทวนองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาให้มีความสามารถในเชิงบูรณาการ ทั้งด้านพันธกิจการศึกษา วิจัย และบริการวิชาการ จากการอภิปรายพบว่า พันธกิจการศึกษาสามารถบูรณาการผ่านการพัฒนาเป็นหลักสูตรหรือรายวิชา พันธกิจวิจัยและบริการวิชาการ สามารถบูรณาการสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาในเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นกับชาวบ้าน โดยมีกรอบกฎหมายถ่วงดุลพร้อมกับการเปิดพื้นที่พูดคุย

นอกจากนี้ การอภิปรายยังได้กล่าวถึงบริบททางการเมืองในสังคมไทยที่ทำให้เกิดการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ อาทิ เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เป็นต้น ตลอดจนเหตุการณ์อื่น ๆ ซึ่งมักมีคู่ขัดแย้งระหว่างฝ่ายความมั่นคงกับประชาชน โดยพบว่าสังคมไทยยังให้ความสำคัญกับอำนาจรัฐเป็นหลัก และเน้นความมั่นคงแห่งชาติมากกว่าความมั่นคงแห่งมนุษย์ การบังคับใช้อำนาจรัฐอย่างเข้มงวดอาจนำไปสู่การสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้น พัฒนาการสิทธิมนุษยชนและสันติภาพของประเทศไทยยังคงมีช่องว่างในการพัฒนา ได้แก่  การสร้างองค์ความรู้และความตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชนเพื่อนำไปสู่สังคมสันติธรรมยั่งยืน

 ในบริบทความขัดแย้งระดับนานาชาติ วิทยากรได้ร่วมอภิปรายถึงแนวคิดความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) ประกอบด้วยการศึกษาหาข้อเท็จจริงของความขัดแย้ง (Truth-finding) การตัดสินดำเนินคดี (prosecution) การปฏิรูปเชิงนโยบาย (policy reform) และการไกล่เกลี่ยประนีประนอม (reconciliation) การเยียวยาความทรงจำอันเจ็บปวด เช่น การศึกษาเรื่องการคลี่คลายความขัดแย้งผ่านอารมณ์ ความทรงจำ ความเจ็บปวด และการเคารพซึ่งกันและกัน (Trauma informed education) โดยมีสิทธิมนุษยชนเป็นฐานคิด การบูรณาการสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ยังต้องการแสวงหาความร่วมมือทั้งในระดับบุคคล องค์กร เครือข่าย ระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ ทั้งภายในศาสตร์และข้ามศาสตร์ เพื่อเรียนรู้จุดแข็ง จุดอ่อน และใช้โอกาสที่ผุดบังเกิดประกอบสร้างการบูรณาการแบบทวีพลัง (Integrated synergy) ร่วมตอบโจทย์หรือร่วมแก้ไขปัญหาไปด้วยกันให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และเป็นฐานในการพัฒนา การดำเนินชีวิตที่มีความสุข มีความมั่นคงและยั่งยืน

Message us