วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการศึกษาสิทธิมนุษยชน (AUN-HRE) จัดงานประชุม เครือข่ายระดับภูมิภาคด้านการศึกษาสิทธิมนุษยชนครั้งที่ 8 (RNM-HRE) เพื่อหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยการสนับสนุนจาก Norwegian Center for Human Rights, University of Oslo ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม ศูนย์ประชุมและอาคารจอดรถมหิดลสิทธาคาร การจัดการประชุมนี้ได้รับเกียรติจาก คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) และองค์การสหประชาชาติ รวมถึงนักวิชาการและนักศึกษา ร่วมบรรยายและเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ พร้อมจัดพิธีมอบรางวัล การประกวดวิดีโอสั้นด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของเยาวชนในภูมิภาค
.
ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเปิดการประชุม และ ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ อาจารย์ประจำสถาบันฯ และประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา (AUN-HRE) พร้อมด้วย Ms. Cecilie Figenschou Bakke, Programme Director, The Norwegian Centre for Human Rights, University of Oslo ร่วมกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม
โดย ศาสตราจารย์ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนประเทศไทยใน AICHR เป็นกล่าวปาฐกถาเพื่อกระตุ้นความคิดและการแลกเปลี่ยนมุมมอง ในความจำเป็นสำหรับ การเปลี่ยนแปลงจากกฎหมายที่ไม่บังคับใช้ (Soft Law) ไปสู่กฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนที่มีผลบังคับใช้ในอาเซียน ขณะที่ ผู้แทน AICHR มาเลเซีย Edmund Bon Tai Soon ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติด้านการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนในธุรกิจ ด้าน ผู้แทน AICHR อินโดนีเซีย Yuyun Wahyuningrum เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความรับผิดชอบและการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ดร.เสรี นนทสูติ จากคณะกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมขององค์การสหประชาชาติ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำธุรกิจแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน
.
งานปิดท้ายด้วยพิธีมอบรางวัลการประกวดวิดีโอสั้น ซึ่งจัดขึ้นเพื่อจัดแสดงผลงานวิดิโอสั้นของเยาวชนด้านสิทธิมนุษยชน โดยรางวัลชนะเลิศตกเป็นของ Prince Loyd Cabalida Besorio (ฟิลิปปินส์) รองชนะเลิศอันดับ 1 คือ Adthie Chard A/L Boon (มาเลเซีย) และรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ นางสาวภัทรชริญา มุสิกรัตน์ (ไทย) ส่วนรางวัล Popular Vote เป็นของ Mark Louise Nofiez Borja and Rhea Balaysoche ผลงานที่ได้รับรางวัลสะท้อนถึงพลังของการเล่าเรื่องที่สร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้และการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียน โดยเน้นย้ำบทบาทของสถาบันการศึกษาในการเป็นสื่อกลางแห่งการเปลี่ยนแปลงและความยุติธรรมในสังคม