
วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ อ. ดร. สุภาสเมต ยุนยะสิทธิ์ ร่วมเป็นวิทยากรในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือชื่อ “Active Lives: Stories of three women in Asia” ซึ่งเป็นหนังสือที่มีที่มาจากโครงการวิจัยของ Associate Prof. Dr. Ana Gretel Echazú Böschemeier อาจารย์นักมานุษยวิทยาชาวอาร์เจนติน่าประจำมหาวิทยาลัย Federal University of Rio Grande do Norte ประเทศบราซิล ในปี 2021-2022 อาจารย์อานา ได้มาเป็นอาจารย์แลกเปลี่ยนอยู่ที่ The Asian Institute of Technology อาจารย์อานามีความสนใจเรื่องบทบาทของผู้หญิงในฐานะผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง และได้เลือกศึกษาเรื่องราวของผู้หญิง 3 ท่านได้แก่ ผศ.ดร. อัมพร หมาดเด็น อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร. Morina Ashan นักวิชาการด้านสตรีศึกษาจากประเทศบังคลาเทศ ผู้มีงานวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับการต่อสู้ของผู้หญิงโรฮิงญาในบังคลาเทศ และภิกษุณีธัมมนันทา แห่งทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม หนังสือเล่มนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตการทำงานของผู้หญิงทั้งสามท่านและยังมีบทย่อยที่เป็นข้อเขียนจากที่ผู้หญิงทั้ง 3 ท่านนี้ที่ให้ภาพการทำงานเพื่อส่งเสริมสิทธิสตรีและการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของผู้หญิงในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนข้อท้าทายที่ผู้หญิงเหล่านั้นกำลังประสบอยู่
หลังจากผู้เขียนได้นำเสนอเนื้อหาของแต่ละบทแล้ว อ. ดร. สุภาสเมต ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จากมุมมองของนักมานุษยวิทยาที่ทำงานเรื่องการสร้างสันติภาพและการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง อ. สุภาสเมตมองว่า ผู้หญิงทั้งสามท่านได้แก่ อ. อัมพร ดร. โมรินา และภิกษุณีธัมมนันทา และผู้หญิงที่ปรากฏอยู่ในเรื่องราวที่นำเสนอจากมุมมองท่านทั้งสามนั้นเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านบวกให้เกิดขึ้นในสังคม แม้จะต้องพบเจอกับอุปสรรคปัญหาที่มากับบริบททางสังคมแบบชายเป็นใหญ่ การกดทับ ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ และการถูกเลือกปฏิบัติต่างๆนาๆ ผู้หญิงเหล่านั้นยังคงยืดมั่นในอุดมการณ์และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหาที่พบเจอ ในการทำงานเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม ผู้หญิงเหล่านี้ใช้กลยุทธ์/คุณลักษณะของนักสร้างสันติภาพที่ได้รับการกล่าวไว้ในหนังสือเล่มสำคัญของ John Paul Lederach ชื่อ The Moral Imagination คุณลักษณะเหล่านั้นได้แก่ ความสามารถในการจินตนาการความสัมพันธ์เชิงบวกกับคู่ขัดแย้ง การมีความสนใจใคร่รู้ในเรื่องการจับคู่สิ่งที่ต่างกันสุดขั้วให้อยู่ร่วมกันได้ การมีความคิดสร้างสรรค์ และความกล้าที่จะเสี่ยง นอกจากนี้ความสนใจในการหาความรู้ใหม่ๆเพื่อทำความเข้าใจสังคมและโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวันก็เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่ทำให้ผู้หญิงที่ทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสังคมเหล่านี้สามารถสร้างผลสะเทือนที่เป็นรูปธรรมและมีความหมายต่อชุมชนและสังคมวงกว้างได้
งานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ได้รับการสนับสนุนโดย ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ SEA Junction