วันที่ 9 มีนาคม 2565 เวลา 9.00 น. ที่ SM Tower กรุงเทพมหานคร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมเสวนาสาธารณะ หัวข้อ “เหลียวหลังแลหน้า 2 ทศวรรษ สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย: เราจะก้าวไปด้วยกัน ซึ่งเป็นการนำเสนอรายงานผลการวิจัยในโครงการเหลียวหลังแลหน้า 2 ทศวรรษ สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย โดยมี ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ เป็นหัวหน้าโครงการและผู้ดำเนินการเสวนา และมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนเป็นผู้วิจารณ์ ให้ข้อเสนอแนะ ได้แก่ (1) คุณณัฐธิดา มีวังปลา ผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิ (2) ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน (3) ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัย มหิดล, ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคม สำนัก งานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคุณเบญจา แสงจันทร์ กรรมาธิการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาห กิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการจัดทั้งในรูปแบบ onsite และ online โดยมีวัตถุประสงค์รวบรวมและรับฟังความคิดเห็นมุมมองของบุคลากรภายในและภายนอกองค์กรสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อทบทวนบทบาทและการทำงานในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และเชิญชวนร่วมขบคิดเพื่อการผลักดันทิศทางการก้าวไปข้างหน้าในฐานะที่เป็นองค์กรอิสระแห่งชาติซึ่งมีบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยให้เป็นไปตามหลักกติกาสากลว่าด้วยการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
การเสวนาเริ่มต้นด้วยการนำเสนอผลการวิจัย โดย อาจารย์หนึ่งนยา ไหลงาม นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่า ภาคประชาชนต้องต่อสู้เรียกร้องอย่างยาวนานก่อนที่จะได้มาซึ่งคณะกรรม การสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และมีการบัญญัติให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กระทั่งถึงปัจจุบันนี้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทั้งหมด 4 ชุด อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยก็ยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ทั้งที่ข้อมูลหลักฐานสำคัญชี้ว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 48 ประเทศ ที่นั่งในที่ประชุมสหประชาชาติประกาศรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ส่วนในเวทีเสวนานั้นวิทยากรได้สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานการวิจัยไว้หลากหลายประเด็น โดยเฉพาะเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิ ซึ่งคุณณัฐธิดา กล่าวว่า ในยุค คสช. มีการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ มีการละเมิดเหยื่อที่เป็น ญ. มีการยื่นข้อเสนอช่วยเหลือแลกกับการร่วมหลับนอน โดยส่วนตัวถูกจับด้วยคดี 112 โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว กสม. ต้องเป็นองค์กรที่เป็นฮีโร่ให้กับประชาชนให้ได้
ทางด้าน ศ.วิทิต กล่าวว่า ประชาชนหวังพึ่ง กสม. เป็นคานของดุลอำนาจเพื่อต่อรองกับอำนาจที่มิชอบ แต่จะพึ่ง กสม.อย่างเดียวไม่ได้ ยังจำเป็นต้องพึ่งองค์กรสากล และพึ่งสื่อมวลชนด้วย เพื่อเป็นการช่วยในการต่อรอง
ส่วน ดร.วัชรฤทัย ให้ความเห็นว่า สถาบันการศึกษาต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชน เพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมที่มีอยู่ในระบบการศึกษา รวมทั้งการสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนก็ต้องมีเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
ทางด้าน ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกฝ่ายจะต้องพูดคุยกันให้ชัดเจน เพราะปัจจุบันมีหลายหน่วย งานที่ทำงานซ้ำซ้อนกัน เช่น มีการอบรมคุณครูจากหลายหน่วยงานโดยใช้คู่มืออบรมเล่มเดียวกัน คุณเบญจา ให้ทัศนะเกี่ยวกับ กสม. ว่า ยังไม่เห็นบทบาทของ กสม. ในหลายกรณี เช่น การจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนด้วย พ.ร.ก.สถาน การณ์ฉุกเฉินโดยการอ้างเรื่องโควิด-19 การซ้อมทรมานและสังหารประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การกีดกันความเท่าเทียมทางเพศ เป็นต้น กสม.ต้องดำเนิน การในเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง
คุณชวรงค์ กล่าวว่า สื่อมีโอกาสทั้งที่จะส่งเสริมคุ้มครองและละเมิดสิทธิมนุษยชนในการเสนอข่าว แต่ในปัจจุบันบทบาทสื่อมวลชนเปลี่ยนไปเพราะไม่ใช่ผู้กำหนดวาระข่าวเช่นในอดีต เนื่องจากสื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทในเรื่องนี้มากกว่า ส่วน กสม.เปรียบเหมือนยักษ์ไม่มีกระบอง ไม่สามารถให้คุณให้โทษฝ่ายใดได้ กสม.จำเป็นต้องทำงานเชิงรุกเพื่อให้เข้าถึงประชาชนและให้ประชาชนเป็นแนวร่วมในการทำงาน
ผศ.ดร.สุชาติ เวทีนี้ไม่ใช่เวทีจะมาแก้ตัวของ กสม. เพราะความเจ็บปวดไม่อาจเทียบเท่ากับผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดได้ พร้อมกับเสนอแนะรายงานวิจัยด้วยว่าให้นำเรื่องกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดเพื่อให้เรื่องเหล่านี้ได้รับการยกระดับนำข้อมูลไปเสนอให้เป็นเชิงนโยบายต่อการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป
สำหรับการเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แสดงความคิดเห็นทั้งรูปแบบ onsite และ onlineนั้น ได้มีผู้เสนอความเห็นต่างๆมากมาย เช่น สภานักเรียนและกรรมการนักเรียนถูกขัดขวางโดยระบบอำนาจนิยมในการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน, นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน กสม.ไม่สามารถช่วยประชาชนได้จริง เพราะประชาชนยังต้องต่อสู้กันเอง, ผู้ที่ละเมิดสิทธิประชาชนมากที่สุดคือเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะนั้นหัวใจสำคัญของสิทธิมนุษยชน คือ การสร้างทัศนคติที่ถูกต้องให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ, กสม.ยังไม่ได้ทำงานเชิงรุก เพราะต้องรอให้ผู้เสียหายร้องเรียนก่อน, ที่มาของ กสม. ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการสรรหา, กสม. ต้องให้ความคุ้มครองประชาชนที่ถูกดำเนินคดี 112 ที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น