วันที่ 1 เมษายน 2565 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “การศึกษาเชิงวิพากษ์ : จินตนาการใหม่มหาวิทยาลัยเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน” (“Critical Pedagogy in Higher Education: Reimagining Universities for Democracy and Human Rights”) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมครบรอบ 10 ปีสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
งานสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ ให้ความสนใจกับประเด็นเรื่องการสอน และบทบาทของการศึกษาเชิงวิพากษ์ (Critical Pedagogy) ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม เฮนรี กีรูซ์ (Henry Giroux) ได้เสนอไว้ว่า “การศึกษาเชิงวิพากษ์นั้นแตกต่างจากรูปแบบการสอนที่ครอบงำ โดยยืนหยัดว่าหน้าที่พื้นฐานที่สำคัญของนักการศึกษาอย่างหนึ่ง คือ การสร้างความเชื่อมั่นว่าอนาคตจะชี้นำไปสู่หนทางในโลกที่มีความเป็นธรรมทางสังคมมากขึ้น”
โลกที่สามารถมีการวิพากษ์วิจารณ์ มีการให้คุณค่าแก่การใช้เหตุผล เสรีภาพ และความเสมอภาค จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับพื้นที่ในชีวิตจริง ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของงานด้านประชาธิปไตยในภาพใหญ่ แต่กระบวนการสอนของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่นั้นยังมีอยู่อย่างจำกัด โดยสามารถกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะในบริบทภูมิภาคเอเชีย ยังคงใช้รูปแบบการถ่ายทอดความรู้ หรือการศึกษาแบบฝากธนาคาร (banking model of education) กันอย่างแพร่หลาย แม้ในบริบทที่ภูมิทัศน์ทางด้านการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด อีกทั้งมีภาวะถดถอยทางประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นทั่วโลก
งานสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดพื้นที่สนทนากับนักวิชาการ 2 ท่านที่มีบทบาทในการใช้กระบวนการศึกษาเชิงวิพากษ์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม คือ Dr. Felisa Tibbitts ประธาน UNESCO ด้านสิทธิมนุษยชนและอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยยูเทรกต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ Dr. Khoo Ying Hooi หัวหน้าภาควิชาการระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ศึกษาและหัวหน้ากลุ่มวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนแห่งมหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย ผ่านการสัมมนาออนไลน์ (Zoom Meeting)