วันนี้ ( 21 กันยายน 2565) สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดเวทีเสวนาวิชาการสาธารณะในหัวข้อ “การเดินทางและอนาคตของสันติศึกษาในสังคมไทย” ณ อาคารเรือนไทยมหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี ของการก่อตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
งานเสวนาวิชาการเริ่มต้นด้วย รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปาฐกถานำ เรื่อง สถาบันอุดมศึกษากับการสนับสนุนสันติศึกษาและการศึกษาความขัดแย้ง โดย รศ.ดร.โคทม กล่าวว่า การศึกษาเรื่องสันติภาพนั้นต้องผูกเรื่องสันติศึกษากับการศึกษาความขัดแย้งไว้ด้วยกัน เสนอว่า ควรมีหน่วยงานด้านสันติภาพอยู่ในมหาวิทยาลัย มากกว่าเพียงแค่การสนับสนุนหน่วยงานที่ทำงานด้านสันติภาพเท่านั้น และควรทำงานในระดับการขับเคลื่อนนโยบาย หรือการเข้าร่วมกิจกรรมสันติภาพระดับนานาชาติด้วย และในอนาคตนั้นมหาวิทยาลัยควรร่วมมือกันระหว่างสถาบัน แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ขอให้มองที่จุดหมายร่วมกัน เช่น ทำอย่างไรจึงจะช่วยลดความรุนแรง (เกิดสันติภาพเชิงลบ) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำอย่างไรจึงจะช่วยกันป้องกันโอกาสการเกิดความรุนแรงทางตรงในทางการเมือง ทำอย่างไรรัฐบาล สภาความมั่นคงจะมีนโยบาย มีแผนยุทธศาสตร์เรื่องความปรองดองซึ่งนำไปปฏิบัติจริง ทำอย่างไรสังคมไทยจะเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สิทธิของชนกลุ่มน้อย เป็นต้น
สำหรับเวทีสาธารณะหัวข้อ “การเดินทางและอนาคตของสันติศึกษาในสังคมไทย” มีวิทยากร 5 คน ได้แก่ ผศ.ดร.พระมหาดวงเด่น ฐิตญาโณ ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต สาขา วิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.), ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศาสตราจารย์ ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ. ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี สถาบันสันติศึกษา มหา วิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ผู้คนมีความเชื่อในอุดมคติเสรีนิยม ประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน ทุนนิยมเสรี สิทธิมนุษยชน แต่ในในทศวรรษที่สามของศตวรรษที่ 21 อุดมคติดังกล่าวกลับเปราะบาง เช่น นักการเมืองฝ่ายขวาชนะการเลือกตั้งด้วยการชี้ให้เห็นว่าอุดมคติแบบเดิมไม่สามารถคุ้มครองจากการก่อร้ายได้ หรือกรณีการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยก็ไม่ได้เป็นมุมมองสิทธิมนุษยชนแต่กลับกลายเป็นการมอบของขวัญจากพลเมืองของรัฐนั้นให้กับผู้ลี้ภัย หรือ กรณีผู้นำสหรัฐอเมริกาเตือนรัสเซียห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์กับยูเครนไม่เช่นนั้นสหรัฐอเมริกาจะตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์ อ.ชัยวัฒน์ กล่าวถึงคนทำงานด้านสันติภาพด้วยว่า จำเป็นต้องตระหนักในความเปลี่ยนแปลงของโลกในเวลานี้
ผศ.ดร. ศรีสมภพ กล่าวว่า ในปัญหาพื้นที่จังหวัดภาคใต้นั้นรัฐบาลมีมุมมองเรื่องสันติภาพแบบมุ่งเน้นเรื่องความมั่นคงเป็นสำคัญ และรัฐก็มีความเข้มแข็งในการจัดการความขัดแย้งโดยไม่ต้องพึ่งพาสถาบันการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับสันติภาพเชิงลบมากกว่าสันติภาพเชิงบวก ปัญหาในพื้นที่จังหวัดภาคใต้จึงเป็นเรื่องการสร้างรัฐมากกว่าการสร้างสันติภาพเชิงบวก
ศาสตราจารย์ ดร.ฉันทนา กล่าวว่า จากการทำงานด้านสันติภาพมานาน 20 -30 ปี พบว่าสังคมไทยไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย ซึ่งเป็นคำถามย้อนกลับมาที่สถาบันการศึกษาเช่นกันว่าที่ผ่านมาได้ทำอะไรมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง ด้วยว่า ไม่มีหลักสูตรปริญญา แต่เป็นการจัดการอบรมที่เน้นการพัฒนาด้านสันติภาพ สร้างชุมชนสันติระดับโลก การนำเรื่องสันติภาพเชื่อมโยงสถานการณ์ โลก เช่น climate change พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า จำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนด้านสันติศึกษายังมีจำนวนน้อย รวมทั้งการขยายตัวของนักวิชาการด้านนี้ก็ยังเป็นการขยายตัวแบบช้าๆด้วย
นายศุภณัฐ กล่าวว่า การทำงานเรื่องสันติศึกษาของสถาบันการศึกษาในช่วงเริ่มต้นค่อนข้างยาก จึงต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน และต้องทำตัวอย่างให้เห็นความสำเร็จแล้วคนจึงจะเข้ามา แม้การทำงานเรื่องนี้จะไม่มีสูตรสำเร็จแต่ก็มีฐานความคิดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ เช่น การเคารพความแตกต่าง คนทำงานด้านสันติภาพจึงะต้องตระหนักอยู่ในตัวเสมอเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างคนทำงานรุ่นต่อไป
ผศ.ดร.พระมหาดวงเด่น กล่าว่า มจร. ,มีกรอบการศึกษาที่ยึดตามพุทธพจน์ คือ “สันติ เมว สิกเขยยะ พึงศึกษาสันติ/ความสงบ เท่านั้น” และมีแนวทางในการสร้างองค์ความรู้ร่วมกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ เช่น มีการแลกเปลี่ยนบุคลากร แลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษา นักศึกษาที่จบจากสถาบันพระปกเกล้าก็มาอบรมต่อที่ มจร. นอกจากนี้ก็ยังมีการสร้างหลักสูตรฝึกอบรม การส่งเสริมการบริการวิชาการเพื่อเผยแพร่แนวคิดสันติวิธี