วันที่ 18 สิงหาคม 2563 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ The Global Campus of Human Rights และ Thai Civic Education จัดเวทีเสวนาวิชาการหัวข้อ “#SAVEพื้นที่การเรียนรู้ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคต” โดยมี คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร คุณมนทนา ดวงประภา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คุณณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 คุณพรนภา มัชนะ ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและ อ.ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา เป็นวิทยากรในการเสวนา ณ ห้อง 119 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยในช่วงเร็วๆ นี้ ที่นักเรียนนักศึกษาได้ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองและจัดกิจกรรมต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้ประเด็นเรื่องสิทธิการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคมไทย นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญกับการเปิดพื้นที่ปลอดภัยในสถานศึกษาและไม่กีดกันให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาทากิจกรรม รวมทั้งแสดงออกได้อย่างมีเสรีภาพและสร้างสรรค์ ตามหนังสือด่วนที่สุดที่ ศธ 04001/ว1692 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2563 โดยได้อ้างถึงหลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กด้วย แต่กระนั้นก็ยังมีรายงานถึงการใช้มาตรการจากัดสิทธิในการแสดงความเห็นทางการเมืองต่อเยาวชน โดยเฉพาะต่อเด็กนักเรียนในสถานศึกษาระดับมัธยม
และในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าวได้ระบุถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคนในโลกและหน้าที่ของรัฐในการพิทักษ์สิทธิเด็ก โดยมีหลักการสำคัญคือ เด็กทุกคนทุกแห่งหนมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอด ได้รับการพัฒนา และได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ตลอดจนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขา อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กถือเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดในโลก โดยประเทศไทยได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเมื่อ พ.ศ. 2535 และเป็นหนึ่งใน 196 ประเทศภาคีของอนุสัญญาฯ จนถึงปัจจุบัน
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมกับ Thai Civic Education และ Global Campus of Human Rights จัดการเสวนาวิชาการนี้ขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณะได้แลกเปลี่ยนมุมมองต่อหลักการการมีส่วนร่วม และพิจารณาแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องของสถานศึกษา รวมทั้งเสนอแนะแนวทางที่จะทำให้นโยบายเรื่องสิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนเป็นผลในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริง เพื่อให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งประเทศไทยได้ให้การรับรองไว้
การจัดงานในครั้งนี้ ผู้จัดมีความมุ่งหวังเพื่อสร้างความตระหนักในสิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้ใหญ่หันมารับฟังเสียงของเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น และสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนร่วมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและแนวนโยบายที่เกี่ยวข้อง ร่วมถึงรณรงค์ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ตามแนวนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และร่วมกันทบทวนแนวนโยบายและเสนอแนะแนวทางปฏิบัติสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน/สถานศึกษา และเป็นการไม่กีดกันให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาในการแสดงออกอย่างมีเสรีภาพและสร้างสรรค์