นายกฯ เฉพาะกิจ: โมเดลผ่าทางตันการเมืองไทย

วัลลภ ภุมรา
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยมหิดล

นายกฯ เฉพาะกิจ: โมเดลผ่าทางตันการเมืองไทย

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ รับคำร้องกรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของ 36 ส.ว. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ พร้อมกับ มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี นับแต่วันที่ 1 ก.ค.2568 เป็นต้นไป จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย (Thai PBS, 2568)  

มีคำถามตามมาว่า การปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงวัฒนธรรมของนางสาวแพทองธาร จะมีปัญหาหรือไม่ เนื่องจาก ส.ว.ได้ร้องถึงความเป็นรัฐมนตรี ซึ่งครอบคลุมทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย  แต่มีคำยืนยันจากนายวิษณุ เครืองาม  อดีตรองนายรัฐมนตรี และอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เป็นเพียงมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น (The Bangkok Insight, 2568)  เช่นเดียวกับ iLAW  ที่ระบุว่า ขณะนี้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ยังไม่สิ้นสุดลง แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของแพทองธาร นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง การเมืองจะเปลี่ยนโฉมทันที คณะรัฐมนตรีทั้งคณะจะพ้นตำแหน่ง และเข้าสู่กระบวนการให้สภาผู้แทนราษฎรต้องเลือกนายกรัฐมนตรีจากแคนดิเดตในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่เคยยื่นไว้ก่อนหน้านี้ (iLAW, 2568)

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะยังไม่มีคำวินิจฉัย แต่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองก็เริ่มขึ้นทันที เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีฝ่ายค้านป้ายแดงอย่างพรรคภูมิใจไทยมาร่วมด้วย นัดประชุมที่รัฐสภาเพื่อหารือแนวทางการทำงานร่วมกัน แต่ไฮไลท์อยู่ที่การปิดห้องพูดคุยกันระหว่างนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มากกว่า ท่ามกลางกระแสข่าว พรรคประชาชนจะสนับสนุนนายอนุทิน ให้เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีข่าวก่อนหน้านี้ว่าพรรคภูมิใจไทยประสานหลังบ้านกับพรรคประชาชนเสนอตัวนายอนุทินเป็นนายกรัฐมนตรี (BBC NEWS Thai, 2568) แต่ทั้งนายอนุทินและนายณัฐพงศ์ก็ปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริง โดยนายอนุทินปฏิเสธมาตั้งแต่แรกว่าไม่เคยเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งพรรคก็ไม่เคยส่งใครไปประสานกับพรรคประชาชนด้วย (กรรมกรข่าว, 2568) ส่วนนายณัฐพงศ์ กล่าวว่า ตนและนายอนุทินรวมทั้งระดับแกนนำ ใม่มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ แต่ในระดับสมาชิกพรรคนั้นมีการพูดคุยกันหลังบ้านเป็นปกติอยู่แล้ว (PPTV HD 36. (2568) 

ถือว่าเป็นฉากทัศน์หนึ่งทางการเมืองที่หลายฝ่ายกล่าวถึงและจับตามอง เนื่องจากในอนาคต หากนายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือ อาจจะลาออกไปก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมี่คำวินิจฉัยก็ตาม การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะต้องเกิดขึ้นตามมาแน่นอน และโมเดล นายกรัฐมนตรีเฉพาะกิจ ที่พรรคประชาชนพยายามนำเสนอให้กับสังคมเพื่อหาทางออกให้กับการเมืองไทยก็ได้รับความสนใจขึ้นมาทันที ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญ ทั้งหมด 7 ข้อ ดังนี้

1. พรรคประชาชนเห็นว่าสิ่งที่ประเทศต้องการมากที่สุด คือรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีความชอบธรรมทางการเมือง ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน และสามารถตั้งทีมบริหารจากความรู้ความสามารถ ไม่ใช่จากการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง

.

2. พรรคประชาชนเห็นว่ารัฐบาลที่จะมีคุณสมบัติดังกล่าว จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากสมการทางการเมืองของสภาชุดปัจจุบัน ทางออกสำหรับประเทศจึงเป็นการจัดให้มี “การเลือกตั้งใหม่” โดยเร็ว เพื่อให้ประเทศมีรัฐบาลที่มีคุณสมบัติดังกล่าว

.

3. พรรคประชาชนยืนยันว่า หนทางที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ได้อย่างเรียบง่ายที่สุด คือการที่รักษาการนายกฯ ประกาศให้ชัดเจนว่าจะใช้อำนาจที่ตนเองมี ในการเดินหน้าสู่การยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง

.

4. พรรคประชาชนเห็นว่า หากรักษาการนายกฯ ไม่เลือกที่จะดำเนินการดังกล่าวและมีเหตุใดที่ทำให้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร พ้นจากตำแหน่ง กระบวนการในการเลือกนายกฯ คนใหม่ จะต้องนำไปสู่การได้มาซึ่งนายกฯ ที่พร้อมเดินหน้าสู่การยุบสภา

.

5. พรรคประชาชนยืนยันเหมือนที่เคยยืนยันมาโดยตลอด ว่าเราจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่เพื่อให้ประเทศไม่ถูกบีบไปสู่ทางตันหรือการใช้อำนาจนอกครรลองประชาธิปไตย เราพร้อมจะพิจารณาลงมติให้กับผู้เสนอตัวเป็นนายกฯ คนใหม่คนใดก็ตาม ที่ยอมรับ “เงื่อนไข” ในการเป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราวที่มีภารกิจในการเดินหน้าสู่การยุบสภา โดยทางพรรคประชาชนจะไม่เข้าร่วมรัฐบาลและจะไม่มีใครจากพรรคประชาชนไปเป็นรัฐมนตรี 

.

6. “เงื่อนไข” ในการเดินหน้าสู่การยุบสภา สำหรับนายกฯ คนใหม่ จะต้องประกอบไปด้วยอย่างน้อย

– 6.1. การประกาศเส้นตายว่าจะยุบสภาภายในสิ้นปี

– 6.2. การยืนยันภารกิจเฉพาะหน้าที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว (เช่น การดำเนินการให้มีการจัดประชามติพร้อมกับการเลือกตั้ง เพื่อถามประชาชนเรื่องการมี สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ / การคลี่คลายสถานการณ์กรณีพิพาทไทย-กัมพูชาเฉพาะหน้า / การทำให้งบประมาณที่จำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาปากท้องประชาชนไม่ต้องสะดุดลงเพราะการเลือกตั้ง)

.

7. หากมีผู้ใดที่ตอบรับ “เงื่อนไข” ดังกล่าว แต่ไม่ทำตามคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน พรรคประชาชนจะใช้เสียงของ สส. ทั้ง 142 คน และทุกกลไกของสภา เพื่อล้มรัฐบาลที่ผิดสัญญากับประชาชนโดยทันที (พรรคประชาชน, 2568)

ข้อเสนอทั้ง 7 ข้อ นี้ หัวหน้าพรรคประชาชน ย้ำว่า ไม่ได้เจาะจงใครเป็นพิเศษ ไม่ได้หมายถึงพรรคหนึ่งพรรคใด วัตถุประสงค์ของการแสดงจุดยืนเมื่อวานนี้ เป็นเพราะต้องการสื่อสารไปถึงประชาชนว่า ประเทศไม่มีวันไปถึงทางตัน ถ้าสถานการณ์ไปถึงขั้นที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้จริงๆ พรรคประชาชนยินดีและจะใช้ 142 เสียง ในการฝ่าทางตันให้กับประเทศ (มติชน online, 2568)อย่าไรก็ตาม แนวคิดนี้มีการคาดการณ์ว่า จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล ให้เหตุผลว่าสุดท้ายจะไม่มีพรรคใดเข้าร่วมโมเดลนี้ และเสียงของพรรคระชาชนก็ไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนใครขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และเชื่อว่าก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย  พรรคเพื่อไทยน่าจะมีการล็อบบี้เพื่อเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไว้แล้ว (PPTV HD 36, 2568)

บรรณานุกรม

Thai PBS. (2568, กรกฎาคม 1). ศาลรัฐธรรมนูญมติรับคำร้องถอดถอน “แพทองธาร” สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ นายกฯ. เข้าถึงข้อมูลจาก Thai PBS: https://www.thaipbs.or.th/news/content/353787

The Bangkok Insight. (2568, กรกฎาคม 3). วิษณุ ยัน แพทองธาร เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ รมว.วัฒนธรรมได้. เข้าถึงข้อมูลจาก The Bangkok Insight: https://today.line.me/th/v3/article/EX92Gpa

Ilaw. (2568, กรกฎาคม 1). ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี รัฐบาล และรัฐสภา ยังเดินหน้าต่อได้. เข้าถึงข้อมูลจาก Ilaw: https://www.ilaw.or.th/articles/53002

BBC NEWS Thai. (2568, กรกฎามคม 3). ภูมิใจไทย-ประชาชน ปล่อยสูตร “นายกฯ เฉพาะกิจ” ใครได้-เสียอะไร เป็นไปได้จริงแค่ไหน. เข้าถึงข้อมูลจาก BBC NEWS Thai: https://www.bbc.com/thai /articles/cew0ndy 9qw7o

สรยุทธ สุทัศนจินดา กรรมกรข่าว. (2568, กรกฎาคม 2). “อนุทิน” ปฏิเสธข่าวเสนอตัวนั่งนายกฯ ชั่วคราว ลั่น “นายกฯ หนู” ค่อยว่ากัน รอให้ถึงวันนั้นก่อน ปัดคุย “เท้ง” อาสานั่งนายกฯ ชั่วคราวผ่าทางตัน. เข้าถึงข้อมูลจาก สรยุทธ สุทัศนจินดา กรรมกรข่าว: https://www.facebook.com/sorrayuth 9115/posts/อนุทิน-ปฏิเสธข่าวเสนอตัวนั่งนายกฯ-ชั่วคราว-ลั่น-นายกฯ-หนู-ค่อยว่ากัน-รอให้ถึงวัน/1351460386340897/

PPTV HD 36. (2568, กรกฎาคม 4). Highlight | เปิดใจ “เท้ง ณัฐพงษ์” ปิดห้องคุย “อนุทิน” รับมีเรื่อง “นายกฯ ชั่วคราว” | เปิดโต๊ะข่าว. เข้าถึงข้อมูลจาก PPTV HD 36: https://www.youtube.com/ watch?v=JyqLAA51Qrk

พรรคประชาชน. (2568, กรกฎาคม 3). จุดยืนพรรคประชาชนต่อการหาทางออกสำหรับประเทศ หากนายกฯ แพทองธารพ้นตำแหน่ง . เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.facebook.com/PPLEThai/posts/-จุดยืนพรรคประชาชนต่อการหาทางออกสำหรับประเทศ-หากนายกฯ-แพทองธารพ้นตำแหน่ง-ท่ามกลา/122159944946480817/

มติชน online. (2568, กรกฎคม 4). เท้ง ปัดเล็งใคร เป็นนายกฯชั่วคราว ยันเงื่อนไขชัด กันคนนอกระบบ ชี้ ‘กม.คอมเพล็กซ์’ ต้องไม่เข้าสภาอีก. เข้าถึงข้อมูลจาก : https://www.matichon.co.th/politics /news _5260711

PPTV HD 36. (2568, กรกฎาคม 6). ผอ.นิด้าโพลเชื่อโมเดลนายกฯ เฉพาะกิจไม่เกิด/ เข้มข่าวค่ำ/. เข้าถึงข้อมูลจาก PPTV HD 36: https://www.facebook.com/watch/?v=727536926689011

Message us