จากคลิปเสียงสนทนาสู่การชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยลาออก

วัลลภ ภุมรา
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยมหิดล

จากคลิปเสียงสนทนาสู่การชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยลาออก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคลิปเสียงการสนทนาระหว่างนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับ สมเด็จมหาอัครเสนาบดีเตโชฮุนเซน แห่งกัมพูชา ที่ถูกปล่อยออกมาบนโลกออนไลน์ สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนชาวไทยจำนวนมาก  โดยเฉพาะคำกล่าวที่ว่า  “ไม่อยากให้สมเด็จฮุน เซน ฟัง “แม่ทัพภาคที่สอง” ของไทย เพราะเป็นคนของฝั่งตรงข้าม”   “จริง ๆ แล้วถ้าท่านอยากได้อะไรก็ให้ท่านบอกมาได้เลยค่ะ เดี๋ยวจะจัดการให้” (บีบีซีไทย, 2025) ส่งผลต่อท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลท่ามกลางกระแสข่าวการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก  พร้อมทั้งกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคมีการเคลื่อนไหวทันที  พรรครวมไทยสร้างชาติ  พรรคชาติไทย  และพรรคประชาธิปัตย์  ต่างเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคเป็นการเร่งด่วน  แต่ที่สุดแล้วก็มีมติอยู่ร่วมรัฐบาลต่อไป  มีเพียงพรรคภูมิใจไทยที่มีมติถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล  พร้อมทั้งเรียกร้องให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความรับผิดชอบต่อการทำให้ประเทศไทยต้องเสียเกียรติภูมิ ศักดิ์ศรีของชาติ ประชาชน  และกองทัพ (ไทยพีบีเอส, 2568) (แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าสาเหตุการถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลมาจากการถูกยึดคืนกระทรวงมหาดไทย (พืชมงคล, 2568))

ในส่วนท่าทีของภาคประชาชนที่มีการเคลื่อนไหวสำคัญ คือ การรวมตัวกันของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่ม รวมทั้งนักวิชาการ และอดีตนักการเมือง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2568  เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำจากคณะหลอมรวมประชาชน, นายนิติธร ล้ำเหลือ จากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย,  นายปานเทพ พัวพงษ์พัน ประธานมูลนิธิยามแผ่นดิน (ตัวแทนนายสนธิ ลิ้มทองกุล), นางสาวรสนา โตสิตระกูล นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกวุฒิสภา, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไท และ รศ.ดร.เจษฏ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ เป็นต้น ภายใต้ชื่อกลุ่มว่า “รวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย” พร้อมกับออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ลาออกทันที และให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลทันที เพราะสิ้นความชอบธรรมแล้ว โดยระบุในแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า “ได้กระทำการในลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศชาติ เข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หมวด 3 ว่าด้วยความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มีพฤติการณ์ตามที่เป็นข่าวสาธารณะในเชิง “สมคบคิด และแสดงออกซึ่งเจตนาในการใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางตอบสนองความต้องการของอริราชศัตรู ทั้งแสดงตัวตนด้วยคำพูดที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นฝ่ายเดียวกับอริราชศัตรูที่มีความมุ่งหมายรุกล้ำ ละเมิดอำนาจอธิปไตย ยึดครองแผ่นดินไทย รวมถึงทรัพยากรของชาติ ทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชนคนไทย และขัดต่อคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่นายกรัฐมนตรี” (BBC News ไทย, 2025) และประกาศนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 28 มิถุนายน 2568 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 

หากมองย้อนกลับไปในอดีต อย่างน้อย 30 กว่าปีที่ผ่านมา การชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีไม่เคยประสบผลสำเร็จด้วยแรงกดดันจากการใช้สันติวิธีจากการชุมนุมแม้แต่ครั้งเดียว แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจนถึงขั้นทำให้นายรัฐมนตรีลาออก หรือยุบสภา ได้นั้น ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียเลือดเนื้อ หรือไม่ก็มาจากอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย

ปี 2535 พลตรีจำลอง ศรีเมือง นำประชาชนชุมนุมขับไล่ พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลเลือกใช้วิธีการรุนแรงโดยการให้ทหาร ตำรวจ พร้อมรถหุ้มเกราะและกระสุนจริง เข้าสลายการชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บและล้มตาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 มีคำสั่งให้พลเอกสุจินดาและพลตรีจำลองเข้าเฝ้าฯ และมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “ถ้าหากว่าเผชิญหน้ากันแบบนี้ต่อไป เมืองไทยมีแต่ล่มจมลงไป แล้วก็จะทำให้ประเทศไทยที่เราสร้างเสริมขึ้นมาอย่างดี เป็นเวลานาน จะกลายเป็นประเทศที่ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายในทางลบเป็นอย่างมาก” (The Momentum, 2022)   สุดท้ายนายกรัฐมนตรีลาออก

ปี 2549  กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล ชุมนุมขับไล่นายทักษิณ ชินวัตร นายรัฐมนตรี  แต่แรงกดดันไม่ได้ทำให้นายกรัฐมนตรีลาออก แต่กลับทำให้ทหารกระทำรัฐประหารภายใต้การนำของ พลเอกสนธิ บุญรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก แม้ไม่มีการสูญเสียแต่ก็เป็นวิถีทางนอกระบอบประชาธิปไตย

ปี 2557 คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ชุมนุมเรยกร้องให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายรัฐมนตรีลาออก นำไปสู่การรัฐประหาร โดยพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก

ในปี 2568 มีการวิเคราะห์ว่าไม่มีสัญญาณรัฐประหาร โดยนายวีระ ธีรภัทร นักวิชาการอิสระ ให้ข้อสังเกตกรณีนายกรัฐมนตรีแถลงผลการหารือร่วมกับผู้นำทหารเรื่องความขัดแย้งกับประเทศกัมพูชา โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองปลัดกระทรวงกลาโหม เสนาธิการทหารเรือ และเสนาธิการทหารอากาศ ยืนร่วมแถลงอยู่ด้านหลังนายกรัฐมนตรี เป็นการยืนยันว่ารัฐบาลได้ทำความเข้าใจกับทหารเรียบร้อยแล้ว จึงสามารถตัดออกจากสมการทางการเมืองได้ (9MCOT, 2568) สอดรับกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม ที่ยืนยันว่า ไม่มีรัฐประหาร เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว (มติชน online, 2568) แม้ว่าในอีกสองวันถัดมาจะให้ความเห็นในทางตรงข้ามกับความเห็นเดิมของตนเองว่า ไม่มีใครสามารถรับรองได้อย่างชัดเจนว่าจะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก (กรุงเทพธุรกิจ, 2025)

ในส่วนการชุมนุมของกลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย ในวันที่ 28 มิถุนายน ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งมีการประกาศยุติการชุมนุมแล้วในคืนวันเดียวกัน แม้จะไม่มีการเรียกร้องให้ทหารเข้ามาทำรัฐประหารจากแกนนำบนเวที แต่ด้วยคำปราศรัยของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่กล่าวว่า  “ไม่ได้ยุให้เกิดการรัฐประหาร เพราะทหารจะรัฐประหารก็ไม่ได้บอก จะทำเมื่อไหร่ก็ทำไป ถ้าเห็นว่าวิกฤติการเมืองเกิดขึ้น และแก้ไม่ได้ เขาจะทำก็เรื่องของเขา” (THE STANDARD TEAM, 2025)  ก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มการเมืองอย่างพรรคประชาชน ถึงกับนำเรื่องขึ้นโพสต์ในเพจเฟสบุ๊กโดยประณามว่าเป็นการปราศรัยของแกนนำบนเวทีบางคนที่มีเนื้อหาที่เปิดทางให้กับการรัฐประหาร รวมถึงมีการปลุกปั่นกระแสชาตินิยมที่เกินเลยขอบเขต (PPTV online, 2568) เช่นเดียวกับ นายก่อแก้ว พิกุลทอง  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ทีตั้งคำถามไปยังนายจตุพร ว่า “คุณจะยังยืนอยู่บนเวทีเดียวกันอีกหรือ ถ้ายังยืนอยู่ ก็ควรถูกตั้งคำถามว่า ตกลงแล้ว จุดยืนคุณคืออะไร? (PPTV online, 2568) ทำให้เรื่องรัฐประหารถูกนำกลับมากล่าวถึงอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่จะนำไปสู่การรัฐประหาร ก็อาจจะนับเป็นสัญญาณที่ดีที่จะได้พิสูจน์ว่าประเทศไทยได้ก้าวพ้นวิถีทางนอกระบอบประชาธิปไตยไปแล้ว ทำให้ความสนใจทางการเมืองเปลี่ยนโฟกัสไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ที่จะต้องประชุมพิจารณาคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา 36 คน ในกรณีเข้าชื่อร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยใน 2 ข้อ คือ

  1. ให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง (น.ส.แพทองธาร ชินวัตร) สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5)

2.  ให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เนื่องจากปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่า “ผู้ถูกร้องมีความสัมพันธ์ส่วนตัวและแอบเจรจากับประธานวุฒิสภากัมพูชาในลักษณะเป็นภัยภัยต่อความมั่นคงอาณาเขตไทย และอำนาจอธิปไตยของไทย อันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงและยากแก่การเยียวยาในภายหลัง ดังนั้นเพื่อป้องกันความรุนแรงอันใกล้ที่จะถึง ประกอบกับคำร้องของผู้ร้องมีเหตุอันมีน้ำหนักที่ศาลจะวินิจฉัยให้เป็นไปตามคำร้อง” จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการหรือวิธีการเป็นการชั่วคราว โดยสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย (ตรีสุวรรณ, 2025)

ซึ่งตามความเห็นของนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า “มีทางเลือก 2 ทาง คือ รับคำร้องไว้พิจารณา หรือมีคำสั่งไม่รับไว้ … หากศาลรับเรื่องไว้พิจารณา ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยอัตโนมัติ แต่จะพิจารณาตามข้อเท็จจริงเป็นกรณีไปว่า การดำรงตำแหน่งต่อจะส่งผลกระทบหรือไม่ โดยที่ผ่านมาก็มีหลายกรณีที่ศาลรับเรื่องไว้พิจารณาโดยไม่มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่” (นสพ.ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์, 2568)

แม้การชุมนุมของกลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตยจะยุติการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแล้วก็ตาม แต่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็ได้ประกาศไว้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ น.ส.แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่ แล้วยังไม่สำนึก จะประกาศยกระดับการชุมนุม ซึ่งจะไม่เรียกร้องให้ลาออก แต่จะขับไล่สถานเดียว นอกจากศาลรัฐธรรมนูญที่จะประชุมพิจารณากรณีคลิปเสียงสนทนาดังกล่าวแล้ว ยังมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, สำนักงานตำรวจสอบสวนกลาง และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่มีผู้ใช้เป็นช่องทางในการยื่นเรื่องไปให้พิจารณาด้วย ซึ่งเป็นแรงกดดันที่จะส่งผลไปยังนายกรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาล  จึงมิใช่มีแต่เพียงโฟกัสที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือกลุ่มผู้ชุมนุมเท่านั้น แต่ยังมีช่องทางที่เป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตยที่มีทางเลือกไว้เป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาได้หลายทางอีกด้วย

บรรณานุกรม

9MCOT. (2568, มิถุนายน 19). ‘อ.วีระ’ ลั่น! ไร้สัญญาณ…รัฐประหาร (19 มิ.ย. 68) | ฟังหูไว้หู. เข้าถึงข้อมูลจาก YouTube: https://www.youtube.com/watch?v=30pcyUqsm9c


BBC News ไทย. (2025, มิถุนายน 20). ฟังเหตุผลของ “คนหน้าเดิม” นัดชุมนุม “รวมพลังแผ่นดิน” ขับไล่นายกฯ ตระกูลชินวัตรรุ่น 3. เข้าถึงข้อมูลจาก BBC News ไทย: https://www.bbc.com/thai/articles/c8e4kdw92z8o

The Momentum. (2022, พฤษภาคม 24). 24 พฤษภาคม 2535 พล.อ.สุจินดา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี. เข้าถึงข้อมูลจากThe Momentum: https://themomentum.co/otd-24-may-2535/
ไทยพีบีเอส. (2568, มิถุนายน 18). ด่วน! “ภูมิใจไทย” ถอนตัวร่วมรัฐบาล รัฐมนตรีส่งใบลาออก. เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/353343

กรุงเทพธุรกิจ. (2025, พฤษภาคม 22). ‘ภูมิธรรม’ ไม่ฟันธงรัฐประหารไม่เกิด ย้ำ อดทนใช้กระบวนการแก้ปัญหาแทนทางลัด. เข้าถึงข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ: https://www.bangkokbiznews.com/politics/1181412#google_vignette
ตรีสุวรรณ, ห. (2025, มิถุนายน 24). เปิดคำร้องฉบับเต็ม สว. กล่าวหา แพทองธาร ชินวัตร ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม ปม “คลิปเสียงหลุด” สนทนาฮุน เซน. เข้าถึงข้อมูลจาก BBC News ไทย: https://www.bbc.com/thai/articles/c9w15n78rnlo

นสพ.ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์. (2568, มิถุนายน 25). ศาล รธน. นัดประชุม 1 ก.ค. นี้ ส่อพิจารณาคำร้อง “คลิปเสียงนายก”. เข้าถึงข้อมูลจาก นสพ.ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์: https://www.kaohoon.com/news/general/763314

บีบีซีไทย. (2025, มิถุนายน 18). ถอดคลิปเสียงหลุด ฮุน เซน-แพทองธาร ใครพูดว่าอะไรบ้าง ? เข้าถึงข้อมูลจาก บีบีซีไทย: https://www.bbc.com/thai/articles/cvg833461l5o

พืชมงคล, ไ. (2568, มิถุนายน 19). “เนวิน” โพสต์ธงชาติ “ตัวเป็นไทยใจไม่ทาส-เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่” หลังคลิป “อิ๊งค์-ฮุนเซน” หลุด. เข้าถึงข้อมูลจาก Facebook: https://www.facebook.com/photo?fbid=1274973403988599&set=a.814810313338246

มติชน online. (2568, มิถุนายน 19). ภูมิธรรม ยันกองทัพเข้าใจนายกฯ ให้คำมั่นไม่มีรัฐประหาร อัดภท.ขยี้ซ้ำ ทั้งที่รู้แต่ต้น. เข้าถึงข้อมูลจาก มติชน online: https://www.matichon.co.th/politics/news_5238077

THE STANDARD TEAM. (2025, มิถุนายน 29). สนธิประกาศ ถ้ามีวิกฤตการเมือง แล้วจะมีรัฐประหาร “ก็
เรื่องของเขา” แต่ขออย่าเอานายพลมาบริหาร. เข้าถึงข้อมูลจาก The Standard:
https://thestandard.co/sondhi-political-crisis-coup-quote/

PPTV online. (2568, มิถุนายน 29). “พรรคประชาชน” ประณามม็อบรวมพลังแผ่นดิน ปลุกปั่นเปิดทาง

รัฐประหาร. เข้าถึงข้อมูลจาก PPTV online: https://www.pptvhd36.com/news/การเมือง/
251606
PPTV online. (2568, มิถุนายน 29). “ก่อแก้ว” ถาม “จตุพร” จุดยืนอยู่ไหน? หลัง “สนธิ” เรียกร้อง

รัฐประหาร. เข้าถึงข้อมูลจาก PPTV online: https://www.pptvhd36.com/ news/การเมือง/
251618

Message us