วันที่ 25 ตุลาคม 2567 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับ ครือข่ายวิชาการสันติภาพและความเป็นธรรม จัดเวทีเสวนาวิชาการ “ความกังวลต่อสถานการณ์ชายแดนใต้ในกรณีตากใบ: ความหวังต่อสันติภาพ ความเป็นธรรม และความปรองดองสมานฉันท์” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมแก่วิทยากรและผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาฯ ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting)
กิจกรรมในเวทีเสวนาประกอบด้วย การอ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายฯ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ความกังวล ความหวัง และหนทางสู่ความเป็นธรรมสมานฉันท์” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช ศรีโภคางกุล อาจารย์และนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญในประเด็นความเป็นธรรมระยะเปลี่ยนผ่านและการปรองดอง วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรายุทธ์ เอี่ยมเอื้อยุทธ์ อาจารย์และนักวิจัยผู้เขียนหนังสือ “มลายูที่รู้สึก” คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.ชาญชัย ชัยสุขโกศล กระบวนกรอิสระที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหายจากความรุนแรงถึงตายและผู้จัดการโครงการปกป้องพลเรือนโดยไม่ใช้อาวุธ (Unarmed Civilians Protection) คุณนารี เจริญผลพิริยะ อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ร่วมเป็นวิทยากร และดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
การเสวนานี้จัดขึ้นเพื่อ เป็นเวทีในการร่วมหาหนทางในการนำสังคมไทยออกจากวังวนของความอยุติธรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชนของพลเมืองโดยรัฐ และการฟื้นฟูความเชื่อมั่นไว้วางใจระหว่างประชาชนต่อกลไกต่าง ๆ ของรัฐ และระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกัน ซึ่งเป็นงานสำคัญที่เครือข่ายนักวิชาการด้านสันติภาพ ความเป็นธรรม และสิทธิมนุษยชนให้ความสำคัญ และเพื่อเชิญชวนภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมร่วมขบคิดใคร่ครวญและเรียนรู้จากประสบการณ์นานาชาติและนำมาปรับใช้ในการนำพาสังคมไทยก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างเกื้อกูลใส่ใจ