งานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง “การศึกษาเชิงวิพากษ์: จินตนาการใหม่มหาวิทยาลัยเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน”


ลิ้งค์สำหรับลงทะเบียน : https://bit.ly/3quvVvq

เรื่อง “การศึกษาเชิงวิพากษ์: จินตนาการใหม่มหาวิทยาลัยเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน” 

(“Critical Pedagogy in Higher Education: Reimagining Universities for Democracy and Human Rights”)

เราอาศัยอยู่ในโลกที่เชื่อมโยงและซับซ้อนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และเรายังอยู่ในห้วงเวลาที่ดูเหมือนว่าระบอบประชาธิปไตยจะไม่สามารถทำให้เกิดผลตามที่ได้ให้สัญญาไว้อีกต่อไป  แม้ว่าปัจจุบัน หลายประเทศโดยส่วนใหญ่จะใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่เรากลับพบเห็นความไม่อดทนยอมรับความแตกต่าง ความรุนแรงและความไม่เป็นธรรมที่มีมากขึ้นตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก  ในประเทศที่มีประชาธิปไตยก้าวหน้า ความเหลื่อมล้ำและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้สร้างความท้าทายให้กับความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาล และได้ปูทางให้เกิดแนวคิดชาตินิยมและประชานิยมในรูปแบบใหม่  ในประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยเปราะบางอันรวมถึงประเทศไทย ก็ยังคงมีความขัดแย้งอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีรากเหง้ามาจากความไม่พึงพอใจและการปฏิบัติในทางที่ไม่ดีต่อประชากรชนกลุ่มน้อย  อีกทั้งยังพบเห็นความแตกแยกทางอุดมการณ์ซึ่งทำให้เกิดการแสดงออกที่สร้างความเกลียดชังทั้งผ่านสื่อออนไลน์และการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่เห็นต่างในประเทศด้วย

เป็นสิ่งที่เราคาดหวังกันว่า การศึกษาควรที่จะบ่มเพาะความรู้ คุณค่า ทัศนคติและทักษะที่ช่วยเอื้อให้ “ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพในสังคมที่เสรี”[1] และส่งเสริมการเคารพและความเข้าใจในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษาและคุณค่าต่าง ๆ รวมถึง สันติภาพ การอดทนยอมรับความแตกต่าง ความเสมอภาคทางเพศและมิตรภาพระหว่างประชาชน กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชนชาติและศาสนา อีกทั้งกลุ่มชนพื้นเมือง[2]  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุดมศึกษาควรมีบทบาทในการส่งเสริมและปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน  ในขณะที่มหาวิทยาลัยและผู้นำในสถาบันเหล่านี้สามารถดำเนินการในหลายเรื่องเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว งานสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ให้ความสนใจกับประเด็นเรื่องการสอน และบทบาทของการศึกษาเชิงวิพากษ์ (Critical Pedagogy)  เฮนรี กีรูซ์ (Henry Giroux)[3]  ได้เสนอไว้ว่า “การศึกษาเชิงวิพากษ์นั้นแตกต่างจากรูปแบบการสอนที่ครอบงำ โดยยืนหยัดว่าหน้าที่พื้นฐานที่สำคัญของนักการศึกษาอย่างหนึ่ง คือ การสร้างความเชื่อมั่นว่าอนาคตจะชี้นำไปสู่หนทางในโลกที่มีความเป็นธรรมทางสังคมมากขึ้น

กล่าวคือ โลกที่วาทกรรมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์และความเป็นไปได้  พร้อมทั้งคุณค่าของการใช้เหตุผล เสรีภาพและความเสมอภาคมีบทบาทช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับพื้นที่ในชีวิตจริง ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของงานด้านประชาธิปไตยในภาพใหญ่  อย่างไรก็ตาม พื้นฐานในกระบวนการสอนของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่นั้นยังมีอยู่อย่างจำกัด โดยสามารถกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยหรืออุดมศึกษา โดยเฉพาะในบริบทภูมิภาคเอเชีย ยังคงใช้รูปแบบการถ่ายทอดความรู้ หรือการศึกษาแบบฝากธนาคาร (banking model of education) กันอย่างแพร่หลายท่ามกลางบริบทที่ภูมิทัศน์ทางด้านการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด อีกทั้งภาวะถดถอยทางประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นทั่วโลก  งานสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้พยายามสร้างพื้นที่สนทนากับนักวิชาการ 2 ท่าน ได้แก่

  • Felisa Tibbitts จากวิทยาลัยครูแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Teachers College of Columbia University) ซึ่งในขณะเดียวกันยังดำรงตำแหน่ง UNESCO Chair ในการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน (UNESCO Chair of Human Rights Education) ประจำคณะนิติศาสตร์ การเมืองการปกครองและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอูเทรคต์ (University of Utrecht)
  • Khoo Ying Hooi หัวหน้าภาควิชาการระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ศึกษา คณะศิลปะศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาลายา (Department of International and Strategic Studies, University of Malaya) และหัวหน้ากลุ่มวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนแห่งมหาวิทยาลัยมาลายา

คำถามสำคัญบางประเด็นที่เราจะมาสำรวจในงานสัมมนาครั้งนี้ ได้แก่

  1. วิทยากรแต่ละท่านมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับการศึกษาเชิงวิพากษ์ในบริบทของตน และแต่ละท่านได้นำแนวทางการศึกษาเชิงวิพากษ์เข้าไปใช้ในกระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนของตนอย่างไรบ้าง
  2. การศึกษาเชิงวิพากษ์จะช่วยเสริมสร้างประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างไร โดยเฉพาะในบริบทอุดมศึกษา
  3. อะไรเป็นแนวโน้มในอนาคตและข้อท้าทายสำหรับการศึกษาเชิงวิพากษ์ในระดับอุดมศึกษา และเราจะสามารถก้าวข้ามข้อท้าทายเหล่านั้นได้อย่างไร

ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการในงานสัมมนาครั้งนี้

โดยจัดขึ้นใน วันที่ 1 เมษายน 2565 เวลา 9.00 – 10.30 น. ผ่าน Zoom และออนไลน์ใน FB Live: https://www.facebook.com/IHRP.Mahidol

งานสัมมนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์สัมมนาออนไลน์เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปีของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล

[1] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มาตราที่ 13

[2] อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มาตราที่ 29 (1)

[3] “Rethinking education as the practice of freedom: Paulo Freire and the promise of critical pedagogy”, 2010:10.

Message us