
SDGs เป้าหมายที่ 5
SDGs เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง ผ่านการผลักดันแนวปฏิบัติเพื่อต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ การทำงานวิจัยและข้อเสนอแนะทางนโยบายเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศโดยเฉพาะในกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โครงการ/กิจกรรมที่ดำเนินการ
ด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับวาระ ผู้หญิง สันติภาพและความมั่นคง (Women, Peace and Security Agenda)
ดร.สุภาสเมต ยุนยะสิทธิ์ ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ให้เป็นผู้แทนประเทศไทย ASEAN Women Peace Registry (AWPR) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในกระบวนการสันติภาพและการไกล่เกลี่ยในประเทศสมาชิกอาเซียน หากได้รับการร้องขอ รวมทั้งเป็นผู้ทรงความรู้ (resource person) เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งที่จัดดภายใต้สถาบัน ASEAN-IPR และกรอบการประชุมอื่นๆ ของอาเซียน ตามคำขอของประเทศสมาชิกอาเซียน และเป็ฯไปตามหลักฉันทามติของอาเซียน (ASEAN consensus)
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ASEAN Women Peace Registry (AWPR) คลิกที่นี่
ด้านงานวิจัยและข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ดวงหทัย บูรณเจริญกิจ. (2564). สถานการณ์เด็ก เยาวชนและผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้. ยะลา: ศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศป.ดส.) ภายใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.).
บทคัดย่อ: งานวิจัยเรื่อง “สถานการณ์เด็ก เยาวชนและผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นงานสำรวจผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ และความก้าวหน้าของสถานะเด็ก เยาวชนและสตรี ซึ่งศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศป.ดส.) ภายใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้การสนับสนุน เพื่อนำไปต่อยอดในการวางยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาเพื่อลดความรุนแรงความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมศักยภาพของเด็ก เยาวชนและสตรีในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยงานวิจัยนี้ใช้กรอบคิดของมาตรการและแนวปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินงานของ ศป.ดส. งานวิจัยนี้พบว่าแม้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จะลดจำนวนลงแต่ในแง่ความรู้สึกปลอดภัยยังคงต้องการได้รับความเอาใจใส่ ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับจากปี พ.ศ. 2547 ได้ส่งผลต่อสุขภาวะและความสัมพันธ์ของครอบครัว การที่เด็กและเยาวชนจำนวนเกือบหนึ่งล้านคนที่ต้องอาศัยและเติบโตในพื้นที่ที่ความรุนแรงยังสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไม่อาจคาดเดาทำให้มีผลต่อสุขภาพจิตและความมั่นคงในชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ประจวบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยิ่งทำให้ภาคส่วนต่างๆ ที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำเป็นจะต้องเพิ่มมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนและการส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ในการดำเนินงานเพิ่มยิ่งขึ้น
อ่านบทความฉบับเต็มด้านล่างนี้
อ่านบทสรุปพร้อมอินโฟกราฟฟิคได้ที่ เว็บไซต์ของ The Active, Thai PBS คลิกที่นี่
ดวงหทัย บูรณเจริญกิจ. (2560). ผู้หญิงกับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้. กรุงเทพฯ: ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ.)
บทคัดย่อ หนังสือเล่มนี้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่องผู้หญิงกับกระบวนการสันติภาพ มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติได้ร่วมกันคิดค้นหนทางในการเสริมสร้างศักพยภาพของกลุ่มผู้หญิงให้เป็นพลังในการสร้างสรรค์สันติภาพที่ยั่งยืน งานศึกษาชิ้นนี้ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ผ่านการวิจัยเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ การสัมภาษณ์นักกิจกรรมสันติภาพผู้หญิงและผู้ชาย ผู้กำหนดนโยบายรวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ เอกสารนี้แบ่งการนำเสนอเป็น 7 ส่วน ประกอบด้วย 1. สถานการณ์ผู้หญิงในชายแดนใต้ 2. แนวคิดสันติภาพและความมั่นคง 3. กรอบแนวคิดสากลที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของผู้หญิง 4. รูปแบบการมีส่วนร่วมของผู้หญิงจากประสบการณ์ต่างประเทศ 5. ความจำเป็นของการมีส่วนร่วมของผู้หญิง 6. บทบาทของผู้หญิงในชายแดนใต้ และส่วนสุดท้าย 7. ข้อเสนอแนะ – เพื่อเสริมมิติเพศสภาพให้กับกระบวนการสันติภาพ
อ่านบทความฉบับเต็มด้านล่างนี้
Download english version click here