SDG-10-available-100

SDGs เป้าหมายที่ 10

โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา กับการส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

SDGs เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ ผ่านงานวิจัยที่ทำให้เกิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายนำเสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการวางแผนและตัดสินใจในระดับนโยบายเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและเหมาะสมให้กับกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มเด็ก-เยาวชน กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มผู้อพยพลี้ภัย เป็นต้น

โครงการ/กิจกรรมที่ดำเนินการ

ผศ.ดร.นภารัตน์  กรรณรัตนสูตร อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา เห็นความสำคัญของปัญหาที่สืบเนื่องมาจากปัญหาแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกของแรงงานต่างด้าวที่ต้องตามพ่อแม่ และเข้ามาเรียนในประเทศไทย มักตกเป็นกลุ่มเป้าหมายของ บบวนการค้ามนุษย์ มาโดยตลอด  เนื่องจากขาดความรู้และไม่มีเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจและป้องกันที่ดีพอ                 

จากการศึกษาวิจัยข้อมูลต่างๆและรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับแผนการศึกษาของโรงเรียนสำหรับลูกของแรงงานต่างด้าว ในจังหวัดสมุทรสาคร ในการสร้างการรับรู้ถึงการค้ามนุษย์ให้กับกลุ่มครูและนักเรียนต่างด้าว รวมทั้งค้นหาและรวมรวมสื่อการเรียนการสอนและกิจกรรมที่มีผู้อื่นได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ในจังหวัดสมุทรสาคร พบว่าโรงเรียนและศูนย์การเรียนสำหรับลูกของแรงงานต่างด้าวยังขาดอุปกรณ์ ตำรา และบุคลากรที่จะสอนวิชาเกี่ยวกับระบบการปกป้องและคุ้มครองเด็กและเนื้อหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงเห็นว่า แม้เด็กต่างด้าวกลุ่มนี้จะถูกมองว่า เป็นบ่อเกิดแห่งการคุกคามความมั่นคงของประเทศไทย เด็กเหล่านี้ควรจะได้รับความเห็นใจในฐานะกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการสูญเสียทรัพย์สิน รวมถึงชีวิตและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ อันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ด้วยเงินหรือทรัพย์สิน ดังนั้น การป้องกันมิให้เด็กเหล่านี้ต้องตกอยู่ในสภาวะความเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการจัดการฝึกอบรมให้คุณครูของนักเรียนต่างด้าวเรียนรู้และเข้าใจปัจจัยแวดล้อมของการค้ามนุษย์ เพื่อให้สามารถสอนให้นักเรียนเหล่านี้ตระหนักถึงสถานการณ์และป้องกันตนเอง จากการเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาใกล้ตัวของเด็กกลุ่มนี้ โดยผ่านกระบวนการเรียนการสอนตามหลักสูตรของสถานศึกษา ทั้งในรูปของโรงเรียนของรัฐ และศูนย์การเรียนรู้ที่องค์กรอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ของรัฐ เช่น มูลนิธิ จัดการเรียนการสอนให้เด็กต่างด้าว เพื่อปกป้องพวกเขาจากความเสี่ยงของการเป็นเหยื่อค้ามนุษย์จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ผู้วิจัยจึงได้จัดทำสื่อการเรียนการสอนและกิจกรรมที่เกี่ยวกับการสร้างระบบการปกป้องคุ้มครองเด็ก และเนื้อหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ที่เหมาะสมให้แก่คุณครูและนักเรียนต่างด้าว เพื่อให้โอกาสคุณครูเรียนรู้และเข้าใจระบบการปกป้องคุ้มครองเด็กและรูปแบบของการค้ามนุษย์ในเด็กต่างด้าวให้มากเท่าที่คุณครูจะสามารถถ่ายทอดบทเรียนเหล่านี้ไปยังเด็กนักเรียนต่างด้าวต่อไป

ในเบื้องต้นผู้วิจัยการวิเคราะห์และสังเคราะห์งานทางวิชาการที่ผ่านมา ทั้งในรูปแบบของบทความวิจัยและสิทธิบัตร เพื่อใช้ในการพัฒนางานใหม่ โดยเนื้อหาของวรรณกรรมที่ทบทวนต้องมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และคำถามของการทำนวัต กรรม ด้วยการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง (Literature Review) สอบถามความคิดเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้องและแสวงหาแนวทางที่น่าจะเป็นไปเป็นไปได้จากทฤษฎี/สมมติฐานในสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่พบงานวิจัยที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนวิชา “การต่อต้านการค้ามนุษย์” (Anti-Trafficking in Persons) ณ โรงเรียนระดับประถมศึกษาในจังหวัดสมุทรสาคร จากนั้นผู้วิจัยได้ใช้วิธี Action research จนสามารถผลิตนวัตกรรมได้ 4 ประเภท ได้แก่

1.คู่มือว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์สำหรับคุณครูเพื่อใช้สอนเด็กนักเรียนต่างด้าว ระดับประถมศึกษาปีที่ 3 – 6 (ภาษาไทย-อังกฤษ และภาษาพม่า-อังกฤษ)

   

คู่มือว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์สำหรับคุณครูเพื่อใช้สอนเด็กนักเรียนต่างด้าวระดับประถมศึกษาปีที่      3 – 6   คู่มือฯ มีสองภาษาสองแบบ คือ 1) ภาษาไทยและอังกฤษ 2) ภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ ตามความประสงค์ของคุณครูและนักเรียนที่เข้าร่วมให้ความเห็นในงานวิจัยนี้ เนื้อหาและกิจกรรมของคู่มือฯ นี้ ออกแบบขึ้นตามความคิดเห็นของคุณครู และนักเรียนต่างด้าว  นอกจากนี้ คุณครูมีส่วนร่วมในการใช้คู่มือฯ นี้ ในการสอนนักเรียน เพื่อทดสอบว่าคู่มือฯ นี้มีประโยชน์ต่อการสอนนักเรียนหรือไม่ ซึ่งคุณครูประเมินประสิทธิภาพของคู่มือฯ นี้ว่า มีประโยชน์และสามารถนำไปใช้สอนได้จริง และขณะนี้ คู่มือฯ ได้ถูกนำมาใช้สอนที่โรงเรียนในประเทศพม่า

คู่มือฯ นี้ ใช้เป็นแนวทางสำหรับคุณครูในการสอนนักเรียนต่างด้าว ประกอบด้วยบทเรียนต่าง ๆ ได้แก่

บทเรียนที่ 1 เริ่มต้นด้วยการเรียนรู้และเข้าใจถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของนักเรียนต่างด้าว ประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ คือ การทำสมาธิ การเลือกรูปภาพตรงใจ ความใฝ่ฝันในชิวิต และสะท้อนบทเรียน โดยใช้กระบวนการทางศิลปะ เช่น การเลือกภาพ และการวาดภาพ มาใช้เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนบอกเล่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตนเอง และครอบครัว

บทเรียนที่ 2 เน้นการทดสอบความรู้ของเด็กนักเรียนต่างด้าวเกี่ยวกับสถานการณ์ของคนต่างด้าว ประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ คือ เกมส์บอกชื่อสิ่งของเพื่อคลายเครียด การแนะนำอัตลักษณ์ของตนเอง การสำรวจความเป็นคนต่างด้าว ระดมความคิด และสะท้อนบทเรียน โดยใช้กระบวนการเล่นเกมส์เดินข้ามเส้น มาประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนการอธิบายของนักเรียน

บทเรียนที่ 3 เสนอให้มีการเรียนรู้คำนิยามเกี่ยวกับ “การค้ามนุษย์” ประกอบด้วยกิจรรมต่าง ๆ คือ ศิลปะเพื่อสำรวจความรู้สึก การวาดรูปแสดงความรู้สึก การรู้จักกับคน หรือกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และองค์ประกอบการค้ามนุษย์ และเกมส์ออกกำลังคลายเครียด โดยใช้กระบวนการแสดงภาพ และการวาดภาพ ในการบรรยายเนื้อหา เพื่อให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้นสำหรับนักเรียนต่างด้าว

บทเรียนที่ 4 สร้างสรรค์ผลงานนิทานเพื่อสร้างความตระหนักในลักษณะการค้ามนุษย์ให้แก่เด็กนักเรียนต่างด้าว ประกอบด้วยนิทาน 3 เรื่อง ได้แก่ การผจญภัยของเนเน่ การเดินทางของเก่ง ทางเลือกระหว่างเรียนและการทำงานของเลียนและสะท้อนบทเรียน โดยให้นักเรียนอ่านสคริปต์จากนิทานตามบทบาทในแต่ละเรื่อง และสรุปประเด็นสำคัญ ๆ ผ่านข้อคิดเตือนภัย และการป้องกันตนจากการค้ามนุษย์ให้แก่นักเรียน

บทเรียนที่ 5 มุ่งให้มีการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงจากผู้กระทำความผิดและเหยื่อค้ามนุษย์ ประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ คือ การโชว์ DVD ของ MTV Exit และการสร้างปณิธานชีวิต   Making a Wish เพื่อสรุปเนื้อหาสาระสำคัญของบทเรียนทั้งหมด

คู่มือฯนี้ มีประโยชน์ ดังนี้ 1. ช่วยให้คุณครูสามารถกำหนดขอบเขตเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนการสอนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์  2. ทำให้นักเรียนต่างด้าวเรียนรู้ลักษณะการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรสาคร            และ 3. ทำให้นักเรียนต่างด้าวซึ่งผ่านกระบวนการเรียนการสอนถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์สามารถถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ไปยังครอบครัว และชุมชนแรงงานต่างด้าวได้

 2.หนังสือนิทาน: รวมนิทานป้องกันการค้ามนุษย์ ฉบับสองภาษา(ภาษาไทย-อังกฤษ และภาษาพม่า-อังกฤษ)

 

หนังสือเล่มนี้ประสงค์ที่จะเล่านิทานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในเด็กต่างด้าว ซึ่งมีเนื้อหาสาระจากประสบการณ์จริงของเหยื่อค้ามนุษย์   ซึ่งผู้วิจัยรวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่สัมภาษณ์ เหยื่อเหล่านี้  แต่เพื่อลดระดับความตึงเครียดในเนื้อหาสาระ   ผู้วิจัยจึงแปลงสถานการณ์จริงเหล่านี้ มาอยู่ในรูปของนิทานที่ประกอบด้วยภาพและสีสันที่ดึงดูดความสนใจของเด็กนักเรียน โดยไม่ทำให้พวกเขาต้องตื่นกลัวกับเหตุการณ์การค้ามนุษย์โดยไม่จำเป็น

นิทาน 3 เรื่อง ประกอบด้วยเรื่อง

2.1. การผจญภัยของเนเน่ ซึ่งให้ข้อคิดว่า การทำงานในต่างแดน เนเน่ไม่ควรคาดหวังว่า นายจ้างหรือคนอื่นจะออกค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร หรือค่าที่พักให้โดยไม่หวังผลใดตอบแทน เพราะพวกเขามักจะออกค่าใช้จ่ายให้ก่อน โดยคาดหวังว่าให้จ่ายเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยสูงมากกว่าจำนวนเงินจริง ๆ ที่ออกให้เนเน่ล่วงหน้า ดังนั้น เนเน่จึงควรหาข้อมูลจากผู้แนะนำที่ทำงาน หรือนายหน้าหางานสถานที่ทำงาน ลักษณะงาน ที่พัก และชั่วโมงการทำงาน หากผู้แนะนำ หรือนายหน้า ไม่สามารถให้คำตอบเหล่านี้ที่ชัดเจนได้ เนเน่ก็ไม่ควรรับข้อเสนอไปทำงานกับซูซี่ เพราะอาจจะเสี่ยงต่อการถูกหลอกไปทำงานในสถานที่ที่กระทำผิดกฎหมาย นอกจากนี้ เนเน่ควรตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากผู้แนะนำ หรือนายหน้า โดยสอบถามข้อมูลทั้งหมดจากกระทรวงแรงงานของประเทศพม่า หรือประเทศของแรงงานต่างด้าวเกี่ยวกับประวัติที่ทำงาน หรือประวัตินายจ้างที่อยู่ต่างประเทศว่า เคยมีประวัติการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ ถ้าสถานที่ทำงานหรือนายจ้างเคยมีประวัติการฝ่าฝืนกฎหมาย เนเน่ไม่ควรรับข้อเสนอไปทำงาน

2.2. การเดินทางของเก่ง ซึ่งให้ข้อคิดว่า การลักลอบเข้าเมืองเป็นการเข้าเมืองปลายทางอย่างผิดกฎหมาย ไม่มีเอกสารรับรองอนุญาตให้เข้าเมือง จึงทำให้คนลักลอบเข้าเมืองนั้นไม่สามารถทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ และอาจจะเสี่ยงต่อการถูกหลอกไปทำงานที่ผิดกฎหมายได้ ดังนั้น หากเก่งต้องการเดินทางมาทำงานที่เมืองไทย เก่งต้องมีพาสปอร์ต ใบอนุญาตทำงาน และแผนการเดินทางที่รอบคอบปลอดภัย เพราะการลักลอบเข้าเมืองอย่างที่ลุงเซาตูจัดการให้เก่งและคนพม่าอีก 8 คนนั้นเป็นการเสี่ยงต่อความปลอดภัยของชีวิต เช่น หลบใต้ผ้าใบ ซึ่งไม่มีอากาศหายใจทำให้เสียชีวิตได้

2.3. ทางเลือกระหว่างเรียนและการทำางานของเลียน ซึ่งให้ข้อคิดว่า การทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเป็นเหตุให้คนที่มีเจตนาไม่ดี โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้ามนุษย์สามารถเอาเปรียบได้

3.โปสเตอร์  | การ์ดอาชีพ

โปสเตอร์อาชีพ เป็นภาพการ์ตูนอาชีพต่าง ๆ ที่คุณครูสามารถใช้สอนประกอบหน้าห้องเรียนกรณีมีนักเรียนเป็นจำนวนมาก และการ์ดอาชีพ เป็นการ์ดที่นักเรียนสามารถใช้เล่นทายชื่ออาชีพในกลุ่มเพื่อน ๆ ได้

โปสเตอร์และการ์ดถูกออกแบบเพื่อให้คุณครูใช้แนะนำอาชีพหลากหลาย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนมุ่งมั่นเรียนหนังสือ และนักเรียนใช้เล่นเกมส์การ์ดในกลุ่มนักเรียน ซึ่งใช้ในการทำกระบวนการเพื่อกระตุ้นความสนใจของเด็กให้เรียนรู้อาชีพต่าง ๆ  นอกจากนี้ คุณครูสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสอนเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ โดยใช้ภาพประกอบ และนักเรียนใช้เป็นเกมส์การ์ด ที่นักเรียนสามารถใช้จินตนาการในการอธิบายภาพอาชีพต่าง ๆ

4.ดีวีดีเพลงต่อต้านการค้ามนุษย์ในเด็ก

ดีวีดีเพลงต่อต้านการค้ามนุษย์ในเด็ก จำนวน 2 เพลง คือ เพลงอ๊ะ อ๊ะ อา และ เพลงสงสารหนูไหม เพลงมีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งฟังและร้องตามได้ง่าย ดีวีดีเพลงจะประกอบด้วยเพลงที่ร้องและเต้นโดยนักเรียนเอง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนอื่น ๆ ที่ได้ฟังเพลงต้องการเข้าร่วมกิจกรรมร้องเพลงและเต้นประกอบด้วย คุณครูสามารถใช้เพลงเหล่านี้ เพื่อใช้สอนเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ซึ่งสามารถคลายเครียดนักเรียนได้ เพราะเพลงมีจังหวะสบาย ๆ พร้อมภาพประกอบการเต้น และนักเรียนสามารถตระหนักถึงการค้ามนุษย์ผ่านการดูดีวีดีนี้