
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา (สสมส.)
เกิดจากการรวมตัวกันระหว่างศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม (ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2541) และศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี (ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2547) สสมส. ได้ผนวกประสบการณ์และวิสัยทัศน์จากทั้งสองศูนย์เข้าไว้ด้วยกัน เอกลักษณ์ของ สสมส. คือองค์ความรู้ที่เป็นสหสาขาวิชา และการสร้างนิยามใหม่ให้แก่การศึกษาด้านสันติภาพ ความขัดแย้ง ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและส่วนอื่นๆของโลก
ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2541 กว่าสิบปีที่ศูนย์ฯปฏิบัติงานในฐานะสถาบันทางวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ศูนย์ฯได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา รวมทั้งจัดโครงการอบรมให้แก่นักศึกษา คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน สมาชิกองค์กรภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่ภาครัฐอย่างต่อเนื่อง หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสิทธิมนุษยชน ของศูนย์ฯนั้น ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน ที่ดำเนินการมายาวนานที่สุดในเอเชีย
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธีก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 ในฐานะศูนย์วิจัยที่มุ่งเป็นส่วนหนึ่งของการหาทางออกอย่างสันติให้กับความขัดแย้งต่างๆในประเทศไทย โดยเฉพาะความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส) ศูนย์ฯได้ดำเนินโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการและโครงการวิจัยแบบมีส่วนร่วมหลายโครงการ โครงการเหล่านี้มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดความพยายามในการร่วมมือกันของฝ่ายต่างๆเพื่อรับมือกับความขัดแย้ง ด้วยการเปิดพื้นที่การสานเสวนาในทุกระดับ หาหนทางลดความรุนแรง และค้นหาความจำเป็นพื้นฐานของชุมชนและสังคม และโครงการเหล่านี้มุ่งนำเสนอนโยบายสาธารณะใหม่ๆ เพื่อแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งและสร้างสังคมที่ ยุติธรรมและสันติ
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษายังได้กำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร เรายังคงมุ่งเน้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงทางสังคมและการเมือง ทั้งระดับชุมชน ระดับชาติ และระดับนานาชาติ สสมส.มุ่งมั่นที่จะยกระดับประเด็นสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ โดยให้การศึกษาแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ สนับสนุนโครงการให้ความช่วยเหลือต่อชุมชนและองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งดำเนินการวิจัยชั้นนำในประเด็นสำคัญๆ