โครงการศิลปะกับสันติภาพ
1. หลักการและเหตุผล
นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548-2554 การทำงานของศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี (เดิม) ซึ่งมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยและการพัฒนา ทั้งโครงการระยะสั้นและระยะยาว เพื่อหวังที่จะแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่การปฏิบัติชอบต่อกัน ซึ่งทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นยุทธศาสตร์การสร้างความไว้วางใจ การสร้างความร่วมมือ และการเปิดพื้นที่ทางความคิด ที่ส่วนหนึ่งได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย ทั้งด้านการเมืองการปกครอง เช่น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของศอ.บต. ด้านภาษาวัฒนธรรม ทำให้เกิดนโยบายภาษาแห่งชาติ และหลักสูตรการเรียนการสอนแบบทวิภาษา ด้านชาติพันธุ์ ในรายการพันแสงรุ้งที่ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างกว้างขวาง ด้านการสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือ ผ่านการสานเสวนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้สร้างนวัตกรรมแห่งการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง ความรุนแรง อย่างสันติวิธี ได้ระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาวิธีการใหม่ๆหรือปรับปรุงวิธีการเดิมๆให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัยและกลุ่มเป้าหมาย
สันติวิธี หรือ ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง มีหลากหลายวิธี หลากหลายสาขา มีลักษณะบูรณาการศาสตร์ต่างๆ เพื่อมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางคือ สันติภาพ ในบรรดาวิธีการอันหลากหลายนั้น ศิลปะเป็นวิธีการหนึ่งหรือเครื่องมือหนึ่งของปฏิบัติการสันติวิธี ที่มีผู้สนใจหรือศิลปินพยายามที่จะสร้างสรรค์ผลงานหรือขับเคลื่อนงานด้านสันติวิธีผ่านงานศิลปะ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าที่ผ่านมานั้น การทำงานขับเคลื่อนสันติภาพด้วยศิลปะสร้างผลกระทบอย่างไรได้บ้าง การขับเคลื่อนต่อไปหรือการต่อยอดจึงควรที่จะทำการศึกษาวิจัยหรือทบทวนประสบการณ์การทำงานศิลปะเพื่อสันติภาพที่ผ่านมา เพื่อให้เข้าใจกระบวนการที่มีประสิทธิภาพและหวังผลได้ โดยกระบวนการหรือเครื่องมือเพื่อการขับเคลื่อนเรื่องสันติภาพนั้นน่าจะถูกสร้างขึ้นมาบนฐานความรู้ที่ทำให้เข้าใจบริบทของการทำงาน
ทั้งนี้ การได้เรียนรู้ประสบการณ์จากผู้สร้างสรรค์งานศิลปะและนักขับเคลื่อนสันติภาพด้วยงานศิลปะ ก็น่าจะทำให้เกิดการเรียนรู้ประการหนึ่ง ขณะเดียวกัน การลงมือปฏิบัติก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้อีกประการหนึ่ง และจะทำให้ได้องค์ความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดในการขับเคลื่อนสันติภาพด้วยงานศิลปะที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2. วัตถุประสงค์
2.1 ศึกษากระบวนการขับเคลื่อนสันติภาพผ่านงานศิลปะ
2.2 นำเสนอผลงานศิลปะเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจและจินตนาการถึงการสร้างสันติภาพ
2.3 สร้างเครือข่ายการทำงานศิลปะเพื่อสันติภาพ
3. โจทย์การวิจัย
3.1 สถานการณ์การขับเคลื่อนศิลปะกับสันติภาพเป็นอย่างไร ?
3.2 รูปแบบการพัฒนาขบวนการศิลปะเพื่อสันติภาพเป็นอย่างไร ?
4. กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมาย คือ บุคคลที่ต้องการสื่อสารถึง ได้แก่
4.1 ผู้สร้างสรรค์ศิลปะและนักขับเคลื่อนสันติภาพด้วยงานศิลปะ
4.2 กลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ส่วนราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ประชาชน เยาวชน ผู้ได้รับผลกระทบในสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้
5. กรอบแนวคิดการวิจัย
ทฤษฎีการสร้าง (Constructionism) เชื่อว่าการเรียนรู้มีมากกว่าการกระทำ หรือ กิจกรรม เท่านั้น แต่รวมถึงปฏิกิริยาระหว่างความรู้ในตัวคนเอง ประสบการณ์ และสิ่งแวดล้อมภายนอก กล่าวคือ มนุษย์สามารถเก็บข้อมูลจากสิ่งแวดล้อม และเก็บเข้าไปสร้างความรู้ภายในสมองของตนเอง ขณะเดียวกัน ก็สามารถเอาความรู้ภายในที่มีอยู่แล้วแสดงออกมาให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมภายนอกได้ ซึ่งจะเกิดเป็นวงจรต่อไปเรื่อย ๆ คือ จะเรียนรู้เองจากประสบการณ์ สิ่งแวดล้อมภายนอกแล้วนำข้อมูลเหล่านี้กลับเข้าไปในสมอง ผสมผสานกับความรู้ภายในที่มีอยู่แล้วแสดงความรู้ออกมาสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก
ทฤษฎีการสร้างให้ความสำคัญกับโอกาสและวัสดุที่จะใช้ในการเรียนการสอนที่สามารถนำไปสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นภายในตนเองได้ ดังนั้น จึงต้องเข้าใจธรรมชาติของกระบวนการเรียนรู้ที่มนุษย์กำลังเรียนรู้อยู่ และช่วยเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้นั้นให้เป็นไปได้ดีขึ้นตามธรรมชาติของแต่ละคน
ทั้งนี้ในกระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะ สามารถนำทฤษฎีการสร้างมาช่วยในงานสร้างสรรค์ได้ โดยมีปัจจัยนำเข้าที่เป็นศิลปินหรือนักขับเคลื่อนสันติภาพด้วยงานศิลปะ เข้ามาร่วมในกระบวนการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมการเรียนรู้วิถีชีวิตหรือประเด็นที่สนใจศึกษา เมื่อเข้าใจแล้วจึงนำความเข้าใจนั้นมาสร้างเป็นงานศิลปะตามทักษะของแต่ละคน แล้วนำไปสู่การนำเสนอภายในกลุ่มศิลปินและนักขับเคลื่อนสันติภาพด้วยงานศิลปะกันเอง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือทำให้เกิดการแก้ไขปรับเปลี่ยน ขัดเกลา ให้เกิดสุนทรียภาพอันประณีต ก่อนที่จะนำเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยหวังว่าผลงานที่ผ่านการขัดเกลาดีแล้วจะส่งผลให้เกิดความสะเทือนใจ เกิดความสำนึกในเรื่องความขัดแย้ง ความรุนแรง และสันติภาพ
ตารางกระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อสันติภาพ
ปัจจัยนำเข้า | กระบวนการ | ผลผลิต |
ศิลปิน-นักขับเคลื่อนสันติภาพด้วยงานศิลปะ | การเรียนรู้วิถีชีวิต>การสร้างสรรค์>การแลกเปลี่ยน>การสร้างสรรค์>การนำเสนอ>การประเมินผล> | ความสะเทือนใจ-สำนึกในเรื่องความขัดแย้ง-ความรุนแรง-สันติภาพ |
จากกรอบแนวคิดข้างต้น สรุปกระบวนการสร้างสรรค์ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) และผลผลิต (Output) โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) ปัจจัยนำเข้า (Input) เป็นปัจจัยเริ่มต้นของกระบวนการพัฒนาองค์ความรู้ด้านศิลปะกับสันติภาพ สำหรับผู้สร้างสรรค์ศิลปะและนักขับเคลื่อนสันติภาพด้วยงานศิลปะ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้และทักษะในกระบวนการขับเคลื่อนสันติภาพ
2) กระบวนการ (process) เป็นส่วนของกระบวนการพัฒนาองค์ความรู้ด้านศิลปะกับสันติภาพ สำหรับผู้สร้างสรรค์ศิลปะและนักขับเคลื่อนสันติภาพด้วยงานศิลปะ ประกอบด้วยการเรียนรู้วิถีชีวิต การสร้างสรรค์ การแลกเปลี่ยน การนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ และการประเมินผลการปฏิบัติงาน
3) ผลผลิต (Output) เป็นส่วนที่แสดงให้เห็นว่ากรอบแนวคิดการสร้างความรู้สำหรับผู้สร้างสรรค์ศิลปะและนักขับเคลื่อนสันติภาพด้วยงานศิลปะ เมื่อดำเนินงานเสร็จสิ้นแล้ว จะทำให้ได้ผลผลิตออกมาเป็นองค์ความรู้เรื่องศิลปะกับสันติภาพที่ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจร่วมกันถึงกระบวนการขับเคลื่อนสันติภาพด้วยงานศิลปะที่มีประสิทธิภาพ
6. นิยามศัพท์เชิงปฏิบัติการ
1) ศิลปิน หมายถึง ผู้สร้างสรรค์ศิลปะซึ่งไม่จำเป็นต้องทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นอาชีพ
2) นักขับเคลื่อนสันติภาพด้วยงานศิลปะ หมายถึง บุคคลหรือนักกิจกรรมที่อาศัยศิลปะในกระบวนการขับเคลื่อนสันติภาพซึ่งอาจจะเป็นศิลปินหรือไม่เป็นศิลปินก็ได้
3) การขับเคลื่อนสันติภาพด้วยงานศิลปะที่มีประสิทธิภาพ หมายถึง ความสามารถที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับใดระดับหนึ่ง ได้แก่ ระดับการรับรู้ ระดับการกระทำ ระดับพฤติกรรม และระดับค่านิยม
ขอบเขตการศึกษา
โครงการศิลปะกับสันติภาพ ให้ความสนใจศิลปะในประเด็นสันติภาพในสาขาวรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ คีตศิลป์ ศิลปะการละคร
7. วิธีการศึกษาและแผนกิจกรรม
โครงการศิลปะกับสันติภาพเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่ให้ความสำคัญกับระบบคิดของคนทำงานขับเคลื่อนสันติภาพด้วยศิลปะผ่านประสบการณ์ทั้งของผู้สร้างสรรค์ศิลปะ นักขับเคลื่อนสันติภาพด้วยงานศิลปะ เพื่อให้เข้าใจกระบวนการทำงานศิลปะเพื่อสันติภาพ โดยผู้วิจัยกำหนดรายละเอียดการศึกษาดังนี้
7.1 ข้อมูล ได้แก่ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากศิลปินและนักขับเคลื่อนสันติภาพด้วยงานศิลปะ และเหตุปัจจัยที่ทำให้งานศิลปะสร้างแรงบันดาลใจและจินตนาการไปสู่การขับเคลื่อนสันติภาพ
7.2 แหล่งข้อมูล ได้แก่ ศิลปิน นักขับเคลื่อนสันติภาพด้วยงานศิลปะ สื่อทุกประเภท
7.3 วิธีการเข้าถึงข้อมูล ได้แก่ การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการถอดบทเรียน
7.4 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การอ่าน ฟัง ดู แบบวิเคราะห์ (Content analysis) จากข้อมูลที่ได้ โดยสร้างความเข้าใจ และจัดหมวดหมู่ เพื่อให้ง่ายต่อการนำมาหาความสัมพันธ์เชื่อมโยง
7.5 การนำเสนอ ผ่านนิทรรศการศิลปะ
ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้วางแผนกิจกรรมการวิจัยดังนี้
กิจกรรม | เดือน (2554-2555) | |||||||||||
ตค | พย | ธค | มค | กพ | มีค | เมย | พค | มิย | กค | สค | กย | |
1. ทบทวนวรรณกรรม | √ | √ | √ | √ | √ | √ | ||||||
2. วางแผนขับเคลื่อน | √ | |||||||||||
3. สัมภาษณ์เชิงลึกรายบุคคล/กลุ่ม | √ | √ | √ | √ | √ | √ | ||||||
4. เวทีวิพากษ์ "กระบวนการขับเคลื่อนศิลปะเพื่อสันติภาพ" | √ | |||||||||||
5. การอบรมเชิงปฏิบัติการศิลปะเพื่อสันติภาพ | √ | |||||||||||
6. หาผู้สนับสนุนในการจัดนิทรรศการ | √ | √ | √ | |||||||||
7. การถอดบทเรียน การประเมินผลและเขียนรายงาน | √ | √ |
8. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
8.1) องค์ความรู้เรื่องกระบวนการสร้างสันติภาพด้วยศิลปะ
8.2) เครือข่ายการทำงานสันติภาพด้วยศิลปะ
8.3) เกิดแรงบันดาลใจที่จะขับเคลื่อนงานศิลปะเพื่อสันติภาพต่อไป
8.4) เกิดความตื่นตัว ทำให้การพูดคุยเรื่องศิลปะกับสันติภาพได้รับความสนใจมากขึ้น
9. ระยะเวลาดำเนินโครงการ
12 เดือน เริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2554 – กันยายน 2555
10. ผู้รับผิดชอบโครงการ
นายพลธรรม์ จันทร์คำ
นางสาวงามศุกร์ รัตนเสถียร
นางสาวอธิษฐาน์ คงทรัพย์